05. หลักพุทธศาสนาลงอันเดียว

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ถ้าเมื่อไรใจรวมลงเป็นหนึ่งแล้ว อะไรๆทั้งหมด มารวมลงที่นั้น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มาลงอันเดียวหมด

๕. หลักพุทธศาสนาลงอันเดียว
วันที่ n/a พ.ศ. ๒๕๒๖

คำว่า “ปฏิบัติศาสนกิจ” นั้น ให้เข้าใจให้ถี่ถ้วนให้ถ่องแท้ เรื่องศาสนกิจพุทธศาสนานี้กว้างขวาง ยากที่จะจับหลักได้ ถ้าหากว่าจับหลักไม่ถูก ก็จับโน่นจับนี่อะไรต่างๆนานาหลายเรื่อง ให้ไขว้เขวไปหมดทุกสิ่งทุกประการ ความจิรงแท้ศาสนามีหลักอันเดียว อย่างท่านเทศน์ถึงเรื่อง “มัคคสมังคี” ก็รวมเป็นอันเดียว ไม่ใช่คนอื่นไกล มรรคที่จะถึงซึ่งมรรคจริงๆจังๆนั้น ต้องเป็น “มัคคสมังคี”

มัคคสมังคี หมายความว่า ทุกสิ่งทุกประการรวมเป็นอันเดียวหมด คือใจมันรวมเสียก่อน ถ้าเมื่อไรใจรวมลงเป็นหนึ่งแล้ว อะไรๆทั้งหมด มารวมลงที่นั่น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ลงมาอันเดียวหมด ครั้นถ้าแยกกันอยู่ยังไม่เป็นมัคคสมังคี ที่แยกกันอยู่นั้นเป็นอุบาย สำหรับพิจารณาให้เป็นสัดเป็นส่วน เห็นเป็นทุกข์ เป็นสมุทัย นิโรธ มรรค อันนั้นเป็นมรรคแยก อันนั้นยังไม่ทันถูกถูกอยู่หรอกแต่ยังไม่ถูกมัคคสมังคีแท้ มันเป็นเบื้องต้น ฝึกหัดเบื้องต้นต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าหากเป็นมัคคสมังคีแท้จริงแล้วอยู่อันเดียว พิจารณาอะไรก็ลงอันเดียวหมด ไม่มีสอง นี่แหละพุทธศาสนามันยาก จนให้เข้าใจยากตรงนี้แหละ ทำๆไป ประเดี๋ยวมันเตลิดเปิดเปิงไป เลยส่งไปข้างนอก จับหลักไม่ได้ เข้าใจว่าตนดี ตนฉลาดเฉียบแหลมตนเข้าใจ แต่จับหลักไม่ได้ ผิดหมด มีมากมีหลายอย่างถึงเรื่องพุทธศาสนา

ศรัทธา คือความเชื่อ อันนี้เป็นเบื้องต้นจริงๆ เบื้องต้นของการฝึกปฏิบัติพุทธศาสนา ต้องเกิดศรัทธานี้เสียก่อน เชื่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมว่า ทำดีได้ ทำชั่วได้ชั่ว เมื่อเชื่อว่าทำดีได้ดีแล้ว และทำชั่วได้ชั่วแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ในนั้นหมด แล้วแต่จะพิจารณา ไม่ได้พิจารณามันก็เป็นไปเอง มันรู้ขึ้นมาเอง มันเป็นขึ้นมาเอง มันชัดแจ่มแจ้งขึ้นมาเอง

ศีล ที่ชัดอยู่ในนั้นเชื่อว่า ทำบาปเป็นบาป ทำบุญเป็นบุญจริง เมื่อเชื่ออย่างนี้แล้ว หิริโอตตัปปะ เกิดขึ้นในตัว ไม่มีการกระทำความชั่ว เพราะละอายบาปกลัวบาป เมื่อละอายบาปมันก็หมดเรื่อง การทำความชั่วก็ไม่มี ศีล ทั้งปวงหมดก็รวมลงมาที่ หิริโอตตัปปะ นี่พูดไว้เฉยๆ นี่และพูดไปเป็นส่วนๆ แต่ว่าลงมาอันเดียวกัน

ศรัทธา ทำให้เชื่อมั่น ศรัทธาตัวนั้นถ้าไม่มีเสียแล้ว บวชก็ไม่ได้ มาบวชในพระพุทธศาสนา ไม่เชื่อพุทธศาสนา แล้วจะมาบวชอะไร? บวชก็สักแต่ว่าบวชละซี ครั้นเชื่อว่าพุทธศาสนานี้เป็นของดี ศาสนาเป็นของจริง พระพุทธเจ้าตรัสรู้เองชอบแล้ว รวมลงมาในความเชื่ออันนั้น เราเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา ทำอะไรแน่วแน่เต็มที่ อยู่ในความเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม เราก็ไม่สามารถจะทำความชั่วได้ ที่พูดกันในสิกขาบทวินัยต่างๆ พูดเป็นเรื่องๆไปหรอก เวลาจะทำหรือเวลาจะเอากันจริง เอากันตรงนี้แหละ เราเชื่อ กรรม กรรม คือการกระทำ เราทำอะไรลงไปมันมีทั้งดีและชั่ว รู้ตัวของตนเอง ทำดีเป็นอย่างนี้ ทำชั่วเป็นอย่างนี้ ทำชั่วมันมีจิตใจเป็นอย่างไร ทำดีมีจิตคิดเป็นอย่างไร เห็นในใจของตนเอง ทำชั่วมันเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ทำดีจิตใจก็เบิกบาน อันนั้นมันถูกต้อง ใครจะไปทำชั่วล่ะคราวนี้ มาบวชกันทุกคนก็ปรารถนาความดี ความชั่วอันนั้นก็ละทิ้งหมด มันก็เป็น ศีล ละซี มันแน่วแน่ลงไปเต็มที่แล้วก็เป็น สมาธิ

อันตัว ปัญญา ที่เกิดขึ้นคือ ตัวความรู้ ตัวปัญญา เป็นตัวเอา ศีล สมาธิ ลงในที่นี้ อันนั้นแหละตัว ปัญญา จึงว่า หลักพุทธศาสนาจริงๆน่ะ ลงอันเดียว พูดไปเท่าไรก็พูดไปเถอะ กลับเข้ามานี่ทั้งนั้นแหละ ถ้าหากไม่ย้อนกลับคืนมาตัวเดิมแล้วไม่ถูก ตัวเดิม คือ ตัวจิต จิตมันเป็นอาการของใจ เมื่อมีใจก็ต้องมีอาการ อาการนั้นเรียกว่าการส่งออก คือการคิดการพิจารณา ถ้าลงถึงใจแล้วไม่มีส่งออกลงอันเดียวเลยนิ่งเฉย อันนี้เป็นหลักปฏิบัติ ไปทางไหนก็ไปเถิด ไม่หนีจากอันนี้และก็ไม่ผิดอีกด้วย ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ถูกต้อง จึงว่าถ้าหากปฏิบัติไม่ถูกหลัก ยึดหลักไม่ได้แล้ว งานนี้กว่าจะเป็นยากนัก ถ้ายึดหลักได้แล้วก็ไม่นาน มันลงอันเดียวแล้วไม่นาน

แต่ว่า อันที่จะทำต่อไปนั้นมันมีอีกอย่างหนึ่ง ทำอย่างนี้ให้ชำนิชำนาญ ให้มันคล่องแคล่วก่อน พระพุทธองค์ทรงเทศนาว่า ภาวิโต พหุลีกโต ทำให้มาก เจริญให้ยิ่ง คือทำอย่างนี้ล่ะ ให้เห็นหลักอย่างนี้ ให้เจริญอยู่บ่อยๆ เพราะมีใจ มันจึงค่อยมีจิต จิตคืออาการของใจ เมื่อมีใจอยู่ตราบใด มันก็ต้องมีอาการอยู่ตราบนั้น ก็ต้องฝึกหัดปฏิบัติอบรมเท่านั้น จึงว่าทำให้มาก เจริญให้ยิ่ง

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 05. หลักพุทธศาสนาลงอันเดียว]