03. ปริยัติ – ปฏิบัติ – ปฏิเวธ
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
๓. ปริยัติ – ปฏิบัติ – ปฏิเวธ
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕
เข้าพรรษากาลได้ ๑๕ วันแล้ว ให้พยายามตั้งอกตั้งใจ ข้อใหญ่ใจความคือการปฏิบัติ ให้มันเคร่งตามกำลังสมควรของเรา การศึกษาเล่าเรียนก็เป็นไปตามเรื่องถ้าหากเคร่งในทางปฏิบัติ เข้าใจในทางปฏิบัติแล้ว การศึกษามันอนุมัติตามหรอกจะเข้าใจเนื้อความนั้นๆ ถ้าหากปฏิบัติไม่ดีแล้ว ปริยัติก็ไม่ดี
ปริยัติ – ปฏิบัติ – ปฏิเวธ ท่านว่าอย่างนั้น ทั้ง ๓ อย่างนี้บรรดานักเรียนทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นคนละอันกัน เข้าใจว่าต้องเรียนปริยัติก่อน จึงค่อยปฏิบัติแล้วจึงค่อยเกิดปฏิเวธ ความข้อนั้นเข้าใจผิดมากทีเดียว หากเรียนปริยัติจนได้เสียก่อน การปฏิบัติเลยไม่มีซ้ำ เลยหมดเรื่อง เรียนมากๆ อันนั้นก็เลยลูบๆคลำๆไป เลยไม่เอาจริงเอาจังสักอย่างเดียว ปฏิเวธมันจะเกิดจากไหนล่ะ
ปริยัติ เรียกว่าสมมติบัญญัติ ถ้าหากเรียนปริยัติสักข้อเดียวเท่านั้น แล้วปฏิบัติตาม เราปฏิบัติอยู่นี้เรียกว่าปริยัติแล้ว อย่างการปฏิบัติ อานาปานสติกัมมัฏฐาน หรือ สติปัฏฐาน ๔ อันนี้เป็นปริยัติโดยตรง เราตั้งใจปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ มีอะไรบ้าง? คือพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ก็ตั้งใจพิจารณาไป เมื่อเรียนรู้แล้วตั้งใจปฏิบัติ ลองดูซิพิจารณา กาย ก็พิจารณาให้เป็น ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม หรือพิจารณาให้เป็น อสุภะ ปฏิกูล หรือพิจารณาเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ทั้งหมด อันนี้เรียกว่า เรียนปริยัติแล้วปฏิบัติ
เวทนา ก็เหมือนกัน ถ้าหากพูดตามปริยัติ คือสมมตบัญญัตินั้น กาย และ เวทนา เป็นคนละอันกัน ครั้นถ้าหากปฏิบัติแล้ว มันจะเห็นเป็นอันเดียวกันเลย พิจารณากาย ก็คือพิจารณาตรงเวทนานั่นละ เวทนามันเกิดจากกาย มันเกิดที่กาย เป็นอันว่าพิจารณาเวทนาไปในตัว สุข ทุกข์ อุเบกขา มันก็เกิดที่กายนี้ มันปรากฏที่กายนี้ก่อน ถึงเวทนาทางภายใน ที่เรียกว่าเวทนาที่เกิดจากใจ สุข ทุกข์ อุเบกขา เกิดจากใจ มันก็ออกไปจากกายนี้เหมือนกัน ถ้ากายนี้ยังมีอยู่ปรากฏอยู่ ก็ต้องพิจารณากายนี่แหละ เวทนาก็ต้องพิจารณากายนี่ กายไม่มีจึงค่อยไม่พิจารณา เดี๋ยวนี้กายมันมีอยู่จึงพิจารณากาย มันก็พิจารณาเวทนาในตัว จึงว่า ทางปฏิบัติมันจะเห็นเป็นอันเดียวกัน
คราวนี้พิจารณาจิต เห็นจิตตนเองเป็นผู้พิจารณากายส่วนต่างๆนั้น ก็เป็นเรื่องพิจารณาจิตนั่นแหละ พิจารณากาย ก็พิจารณาจิตนั่นเอง
การพิจารณาทั้ง ๓ อย่างนี้ เรียกว่าพิจารณาธรรม คือ รูปธรรม-นามธรรม แล้วมันจะไปไหนล่ะ ก็เป็นอันเดียวกัน เรียนปริยัติมันก็ต้องปฏิบัติ การพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ โดยทางปฏิบัติมันลงอันเดียว เป็นการปฏิบัติอันเดียว หากจะไปเรียนแล้วจึงค่อยปฏิบัติไม่ได้หรอก เหลวไหลหมด เรียนอันใดก็ปฏิบัติอันนั้น ท่านสอนให้ปฏิบัติกายนี่เท่านั้น ให้พิจารณาลงที่กายนี่เท่านั้น เมื่อพิจารณาลงที่นี่ที่ กาย หรือ เวทนา หรือ จิต มันเห็นชัดเห็นจริงขึ้นมา นั่นแหละ ปฏิเวธ เห็นเป็นธาตุ ๔ จริงๆจังๆ ตัวของเราไม่มีอะไรเหลือ ทุกชิ้นทุกส่วนในตัวของเรานี่ เป็นธาตุ ๔ ทั้งนั้น ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ชัดเจนขึ้นมาในนั้นเลย นั่นคือที่ตั้งของสติไม่ได้ตั้งที่อื่นหรอกตั้งที่กายนี่แหละ นั่นเรียกว่า ปฏิเวธ เกิดขึ้นมาในนั้น
พูดอย่างนี้มันต้องพูดสำหรับนักปฏิบัติ นักปริยัติแล้วไม่พูดอย่างนี้หรอก ต้องพูดโดยลำดับ อย่างที่อธิบายในเบื้องต้น กาย พิจารณาเป็นอันหนึ่ง จิต ก็พิจารณาอันหนึ่ง ธรรม ก็อันหนึ่งไปโน่น มันจึงไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจเรื่องธรรมะ เรียนแล้วก็เลยปล่อยทิ้งหมด กว่าที่จะปฏิบัติได้ ปริยัติก็หมดแล้ว ทิ้งหมดปฏิบัติไม่เห็นจริงเห็นแจ้งมันก็เบื่อหน่ายละซิ ธรรมทั้งหลายมันไม่มีในตัว มันก็เบื่อหน่ายไปเสีย เหตุนั้นจึงว่าการศึกษาเล่าเรียนนั้นเป็นการดี แต่ว่าเรียนให้มันถูกเรียนให้มันเป็น เรียนแล้วอย่าเรียนเฉยๆ เรียนเข้ามาค้นคิดพิจารณาในตัวของเรา เพราะธรรมะทุกหมวดที่ท่านแสดงในนวโกวาทนั้น ไม่นอกเหนือจากตัวของเราไปไหน อยู่ในตัวนี่ทั้งหมด ธรรมทั้งหลายที่พระพุทธองค์ทรงเทศนา แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ออกจาก กาย ออกจาก ใจ ทั้งนั้น ถ้าไม่มี กาย ไม่มี ใจ แล้วพระองค์ก็ไม่ทรงเทศน์ มนุษย์ของเรามี กาย มี ใจ พระองค์จึงค่อยทรงเทศนาที่ กาย ที่ ใจ นั่น
ให้ตั้งใจอย่าท้อถอย เราพยายามไม่ถึงขีดขั้น อยากแต่จะได้ความรู้อยากจะได้แต่ความเข้าใจ มันไม่ถึงขีดขั้นของธรรมะ ปฏิบัตินิดๆ หน่อยๆ ก็เลยอ่อนเปลี้ยลงไปเสีย ถ้าหากตั้งใจปฏิบัติจริงๆลงไป อย่างที่ว่านี่ พิจารณากายเท่านี้แหละ ลงเฉพาะกายอันเดียว ย่อมชัดขึ้นมาในใจ ความชัดในใจอิ่มเอิบขึ้นมาในใจแล้ว ยิ่งปลื้มปิติ ยิ่งขยันหมั่นเพียรอีกซ้ำ นั่นแหละตัวต้นของการทำความเพียร หากทำไปเฉยๆ ไม่ได้รับผลประโยชน์ คือพิจารณาเฉยๆ ไม่รู้เรื่องข้อเท็จจริง ไม่รู้เรื่องธรรมะของจริง ไม่เห็นธรรมะ ก็เลยประมาทดูถูกเสีย ว่าเรื่องธรรมะต่างๆ ไม่มีในตัวของเราหรอก เลยหมดเรื่องไม่ได้อะไรเลย
มีสิ่งใดจงอย่าประมาทละเหลิง ตั้งใจทำจริงให้มันได้ เรามีกายก็พิจารณา เฉพาะกายของเรานี้ เราได้กายแล้วก็ต้องพิจารณากายอันนี้จะไปพิจารณาสิ่งอื่น มันไม่ได้หรอก
เราเห็นกายของเราเพียงแค่ไหน ก็ให้รักษาอันนั้นแหละไว้ ให้เชื่อมั่นในธรรมะที่มีในตัวของเรา คือมีความเชื่อมั่นเป็นเบื้องต้น ถ้าความเชื่อมั่นมีแล้ว อย่างไรๆก็ต้องเป็นไป ศรัทธา เป็นบทเบื้องต้น จะทำสิ่งใดต้องมีศรัทธาทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่มีศรัทธา ทำแล้วก็ไม่แน่นหนา ทำไปก็ไม่ติดใจ จึงว่าอะไรที่มีอยู่ในตัวของเรา อย่างสมมติว่ามีกาย นั่นแหละมีตัวของเรา ให้เชื่อว่าธรรมะอยู่ในนี้ แล้วเชื่อในความเพียรของเราละคราวนี้ ทำลงไป เราพิจารณา เวทนา จิต ธรรม อันนั้นแหละมีในตัวของเรา
เราเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้เป็นของมีจริง แต่เราไม่จริง เราต้องทำให้มันจริง มันจึงจะเห็นของจริง จะพูดให้ฟังว่า มดแดงอยู่ในขั้วมะม่วงโน่นน่ะ ไม่ได้กินรสชาติของมะม่วงหรอก คนมาสอยไปกินหมด อันนี้แหละเรียกว่ามดแดงตอมขั้วมะม่วงที่พูดนั่นแหละ
ศรัทธา เป็นบทเบื้องต้น จะทำสิ่งใดต้องมีศรัทธาทั้งนั้น ถ้าไม่มีศรัทธา ทำแล้วก็ไม่แน่นหนา ทำไปก็ไม่ติดใจ
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 03. ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ]