อัตตโนประวัติ 09
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
[หน้า 09 จาก 09]
๓๔. พรรษา ๕๕-๕๖ สังขารนี้เป็นวัฏจักร (พ.ศ.๒๕๒๐–๒๕๒๑)
สังขารร่างกายเป็นวัฏจักร มีการหมุนไปไม่มีที่สิ้นสุด แม้จิตใจของผู้ที่ไม่ได้ฝึกฝนอบรม ก็ต้องเป็นวัฏจักรด้วย ผู้ที่ฝึกฝนแล้ว จึงจะเห็นเป็นของเบื่อหน่าย
อย่างตัวของเรา เมื่อออกจากหมู่ที่ภูเก็ต พ.ศ.๒๕๐๗ อยู่เฉยๆ เสียงก็แหบแห้ง จนจะพูดไม่ออก มาคราวนี้ก็อีกเหมือนกัน หลังจากพวกพระนวกะ (นักศึกษาแพทย์ศิริราช) ที่มาอบรมศึกษาธรรมะเพิ่งกลับไป เราอาพาธเล็กๆ น้อยๆ แต่เสียงก็แหบแห้งไปเฉยๆ จนกระทั่งบัดนี้เสียงก็ยังไม่กลับเหมือนเดิม
คุณหมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ ได้นิมนต์ให้ไปตรวจสุขภาพทั่วไปที่ รพ.ศิริราช เมื่อตรวจแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีโรคอันใด นอกจากโรคชราเท่านั้น วัฎจักรย่อมเป็นไปอย่างนี้ ทุกรูปทุกนามก็จะเป็นอย่างนี้ทั้งหมด จะต่างกันก็แต่อาการเท่านั้น
๓๕. พรรษา ๕๗ – พรรษา ๗๐ ๒๘ ปีที่วัดหินหมากเป้ง (พ.ศ.๒๕๒๒–๒๕๓๕)
จำเดิมแต่เรามาอยู่วัดหินหมากเป้งได้ ๒๘ ปีเข้านี่แล้ว นับว่านานโข ถ้าเป็นฆารวาสก็พอสร้างฐานะได้ พอมีอันอยู่อันกินได้พอสมควร เป็นพระแก่ก็อยู่เฝ้าวัดเป็นธรรมดาๆ อย่างพระแก่ทั่วไป ไปไหนก็ไม่ได้อย่างเมื่อก่อน ถึงไปก็ไม่มีป่าเที่ยวรุกขมูลอย่างพระธุดงค์เหมือนแต่ก่อน เขาโค่นป่าทิ้งหมดแล้ว และลูกหลานก็มากเข้าทุกวันๆ ไปไหนก็มีลูกเกิดจากโอษฐ์ มิได้เกิดจากอุทร แห่ตามกันเป็นพรวน
ดังเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ พล.อ.อ.หะริน หงสกุล นิมนต์ไปวิเวกที่ออบหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีผู้ตามเป็นพรวนไปเลย แทนที่จะอดอาหารทรมานกาย ทำความเพียรภาวนา มันตรงกันข้าม อาหารการกินก็รุ่มรวยมาก มีเบาะมีเตียงชั้นดีให้นอน
เรื่องปัจจัยธาตุสี่นี้ ถ้ามันฟุ่มเฟือยมาก ก็เป็นอุปสรรคแก่การภาวนาของผู้ที่ยังไม่เป็นอย่างสำคัญ วัดใดสำนักใดที่ปัจจัยลาภมาก มักทะเลาะกัน และการศึกษาธรรมะก็ไม่เจริญเท่าที่ควร
ถึงทางโลกๆ ที่เป็นพื้นฐานนี้ก็เช่นเดียวกัน ลาภสักการะเกิดมีขึ้น ณ ที่ใด ที่นั้นย่อมเป็นภัยอันตรายแก่คนหมู่มาก เป็นเจ้านายฉ้อราษฎร์บังหลวง โกงกินกันแหลกลาญไปหมด ทะเลาะกันเพราะผลประโยชน์ไม่เท่ากัน พ่อค้าประชาชน ผู้มีอิทธิพลขัดผลประโยชน์กัน ฆ่ากันตายนับไม่ถ้วน พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า “สักกาโร กาปุริสัง หันติ” สักการะย่อมฆ่าบุรุษผู้ที่มีปัญญาทราม ดังนี้
อยู่ที่เก่านานเกินไปชอนฝังลากลึกลงไปทุกที ญาติโยมไปเห็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในบริเวณวัด ก็มีศรัทธาก่อสร้างขึ้น จนเป็นถาวรวัตถุสวยๆ งามๆ มีก่อสร้างสวยงามขึ้นมา แล้วก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องรักษา เมื่อไม่รักษา ก็เป็นโทษตามวินัยของพระผู้รักษา
ก็ใครล่ะก็พระแก่นั่นแหละ อบรม สั่งสอน การนั่ง นอน อยู่กิน บิณฑบาต และกิจวัตรทั้งปวง ตลอดถึงการศึกษาของพระภิกษุ และสามเณรทั้งหมดที่อยู่ในวัด มาเป็นภาระของพระแก่คนเดียว เขาให้ชื่อว่า สมภาร สมจริงดังเขาว่า เรื่องนี้หลีกเลี่ยงก็ไม่ได้ จำเป็นต้องสู้ไปจนกว่าจะสิ้นชีพ
บุญคุณของพุทธศาสนา เมื่อมาคิดถึงครูบาอาจารย์ และพระผู้ใหญ่แต่ปางก่อน มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านนำพระศาสนาก็ด้วยอาการอย่างนี้แล้ว ก็มีใจกล้าหาญขึ้นมาว่า เราคนหนึ่งก็ได้นำพระศาสนามาได้โดยลำดับ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นคนแล้ว ยังบวชในพระพุทธศาสนายังได้ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ เมื่อเขาทำอัญชลีกรรมกราบไหว้หรือทำทานวัตถุต่างๆ ก็นึกถึงตนเสมอว่า เขากราบไหว้อะไร เขากับเราก็เช่นเดียวกัน คือ เป็นก้อน ดิน น้ำ ไฟ ลม เหมือนกัน แท้จริงอย่างน้อยเขาก็เห็นแก่ผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นเครื่องหมายของพระอรหันต์แล้วจึงกราบไหว้
พระศาสนาอยู่ได้ด้วยความเชื่อถืออย่างนี้ ถึงแม้จะไม่เห็นจริงจังด้วยใจของตน แต่เชื่อด้วยความเห็นที่สืบๆ กันมา เราคิดถึงบุญคุณของพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง แต่บวชมาก็นานแล้ว ศาสนาได้ปรนปรือตัวของเราให้เป็นคนดีตลอดเวลา ศาสนามิได้แนะนำสอนให้เราทำความชั่วแม้แต่น้อย แต่ถึงขนาดนั้นพวกเราก็ยังฝ่าฝืนคิดจะทำชั่วอยู่ร่ำไป
ที่อยู่ ที่นอน เสื่อ หมอน มุ้งม่าน และอาหารการกินทุกอย่าง ที่เราบริโภคใช้สอยอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแต่เป็นของพุทธศาสนาทั้งนั้น ยาแก้โรคภัยไข้เจ็บ ก็เป็นของผู้มีศรัทธาในพระศาสนาสละมาทำทานทั้งนั้น
เราบวชมาเป็นพระครั้งแรก ก็ต้องอาศัยผ้ากาสาวพัตร์ อันเป็นเครื่องหมายของท่านผู้วิเศษที่อุปัชฌาย์อาจารย์ให้แก่เราแล้วทั้งนั้น (อุปัชฌาย์อาจารย์ ก็เป็นเพียงตัวแทนพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะท่านทั้งหลายเหล่านั้น ก็ล้วนแล้วแต่ยึดเอาพระรัตนตรัย มาเป็นหลักด้วยกันทั้งนั้น) เมื่อได้เครื่องทรงอันวิเศษนี้แล้ว เขาก็กราบไหว้ทำบุญสุนทาน จนเหลือหลาย เราไม่ตายอยู่มาได้จนตราบเท่าทุกวันนี้ ก็เพราะศาสนา พุทธศาสนามีคุณอเนกอนันต์ เหลือที่จะพรรณนานับ แก่ตัวของเราพร้อมทั้งโลกทั้งหมดด้วยกัน
เมื่อเราได้มาอยู่ที่นี่หรือที่ไหนๆ ก็ตาม เมื่อกำลังทางกายมีอยู่ เราก็ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุทางพุทธศาสนาไว้ เป็นหลักฐานตามสมควรแก่อัตภาพของตน เมื่อเราแก่แล้ว เราไม่มีกำลังกายพอจะก่อสร้างได้ ญาติโยมเขามีศรัทธา บริจาคทรัพย์ เราก็เอาทรัพย์นั้นมาก่อสร้างถาวรวัตถุในพุทธศาสนาแทนตัวต่อไป ถ้าหากมีเหลือพอเฉลี่ยให้แก่วัดอื่นๆ ได้ เราก็เฉลี่ยไป
แต่ไม่ยอมเป็นทาสของอิฐ ปูน หรือไม้ แต่ไหนแต่ไรมา เพราะเราเห็นว่าของเหล่านั้นเป็นภายนอก ของเหล่านั้น จะสร้างให้สวยสดงดงามสักปานใด จะหมดเงินกี่ร้อยล้านก็ตาม หากตัวของเราไม่ดีประพฤติเหลวไหลแล้ว ของเหล่านั้น ไม่มีความหมายเลย แก่นพุทธศาสนาแท้มิใช่อยู่ที่วัตถุ แต่หากอยู่ที่ตัวผู้ประพฤติต่างหาก อันนี้เป็นหลักใจของเรา
การบวชที่ได้นามว่า เนกขัมมะเพื่อละกามทั้งหลาย ตั้งใจปฏิบัติตามสัจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อพ้นจากทุกข์ทั้งปวงนั้น จึงไม่ควรที่จะนำเอาตัวของตน ไปฝังไว้ในกองอิฐกองปูนโดยแท้
๓๕.๑ อุโบสถวัดหินหมากเป้ง
ในราว พ.ศ.๒๕๐๙ นายกอง ผิวศิริ อยู่บ้านโคกซวก ตำบลพระพุทธบาทนี้ มีจิตศรัทธาสร้างพระประดิษฐานบนก้อนหินใหญ่ หันหน้าไปทางแม่น้ำโขง ทำด้วยหินปูน และทราย ไม่ได้ผูกเหล็ก โดยใช้หินก้อนใหญ่ที่หาเอาในบริเวณวัดนี้ ผสมกับปูนและทราย ก่อขึ้นเป็นองค์พระ
แกหาทุนทรัพย์ และดำเนินการหาช่างมาก่อสร้าง ด้วยลำพังตนเอง เราไม่เกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างไร ทราบว่าสิ้นเงินไปราว ๑,๐๐๐.๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาท) ได้พระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางสะดุ้งมาร ขนาดหน้าตักกว้างราว ๔ เมตรเศษ สูงตั้งแต่ฐานจรดยอดพระเกศราว ๕ เมตรเศษ แต่รูปร่างลักษณะก็มิได้งดงามอย่างนี้ เพราะช่างที่ว่าจ้างมานั้นเป็นช่างพื้นบ้านธรรมดาๆ ไม่มีความสามารถและชำนาญในการปั้นพระมากนัก ต่อมาเราได้หาช่างที่มีความสามารถมาตกแต่งแก้ไข โดยเฉพาะพระพักตร์ ตกแต่งแก้ไขอีกสองสามครั้ง จึงสำเร็จเรียบร้อยสวยงามดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้
เสร็จแล้วเราได้สร้างศาลาครอบองค์พระไว้ โดยทุนของวัดและพระเณรช่วยกันทำเอง ต่อมาทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๓ เราจึงพิจารณาเห็นว่าวัดหินหมากเป้งแห่งนี้ นับว่าเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยสมบูรณ์ สมควรที่จะมีอุโบสถไว้เพื่อประกอบสังฆกรรมตามธรรมวินัย เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาสืบไป และเห็นว่าบริเวณที่ประดิษฐานพระองค์ใหญ่นั้น หากจะสร้างอุโบสถครอบไว้แล้วคงจะเหมาะสมดีนัก เมื่อเสร็จแล้วจะได้ทั้งพระอุโบสถ และพระประธานพร้อมกันทีเดียว
จึงได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๕ โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พลอากาศโท ชู สุทธิโชติ เป็นประธานฝ่ายฆารวาส อุโบสถหลังนี้ทำเป็นหลังคาสองชั้น กว้าง ๗ เมตร ยาว ๒๑ เมตร สูงจากพื้นถึงเพดาน ๙ เมตร มุงกระเบื้องดินเผากาบกล้วย โดยคุณไขศรี ตันศิริ กรมอนามัย เป็นผู้ออกแบบ อาจารย์เลื่อน พุกะพงษ์ แห่งกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบลวดลายต่างๆ ตลอดจนแนะนำการก่อสร้าง นายไพบูลย์ จันทด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เฉพาะค่าแรงงานราคา ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน) น.ท.พูนศักดิ์ รัตติธรรม เป็นผู้หาเครื่องอุปกรณ์ที่มีอยู่ทางกรุงเทพฯ นายแสงเพ็ชร จันทด เป็นเหรัญญิก และหาอุปกรณ์ตลอดจนควบคุมการก่อสร้างโดยใกล้ชิด ทุนทรัพย์ที่ใช้ในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้นประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดแสนบาท) ได้จากท่านผู้มีจิตศรัทธาทั้งสิ้น
ได้จัดให้มีการฉลองอุโบสถ ยอช่อฟ้า ผูกพัทธสีมาตัดลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๕ – ๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๖ โดยมีเจ้าพระคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์และพลอากาศโท ชู สุทธิโชติ เป็นประธานฝ่ายฆารวาสอีกเช่นกัน
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ ได้ทำการซ่อมแซมเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา เป็นกระเบื้องซีแพคโมเนีย ทำช่อฟ้าใบระกาคันทวยหางหงส์ ทำลวดลายปูนปั้นซุ้มประตู หน้าต่าง บัวหัวเสา กำแพงแก้วรอบอุโบสถ ทาสีทั้งภายในและภายนอก สิ้นทุนทรัพย์ ๔๕๐,๐๐๐ บาท (สี่แสน ห้าหมื่นบาทถ้วน)
ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ได้ทำการปิดทองพระประธานองค์ใหญ่สิ้นทุนทรัพย์อีก ๒๙๙,๕๐๐๐.๐๐ บาท (สองแสน เก้าหมื่น เก้าพัน ห้าร้อยบาทถ้วน)
๓๕.๒ มณฑปแห่งวัดหินหมากเป้ง
เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ เราได้พิจารณาเห็นว่า สถานที่ตรงริมแม่น้ำโขงนี้ เป็นทำเลเหมาะ คิดอยากจะสร้างมณฑปขึ้นสักหลังหนึ่ง ให้มีลักษณะเป็นศิลปะแห่งลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อเป็นสถานที่ประดิษฐานสิ่งสักการบูชา มีพระพุทธรูปพระบรมสารีริกธาตุเป็นอาทิ นอกจากนั้นเราได้แอบนึกปรารภไว้ในใจว่า เพื่อความไม่ประมาท หากเรามีอันเป็นไป ก็จะได้ไม่ต้องเป็นภาระ ให้คนอยู่หลังจัดหาที่เก็บกระดูกของเราให้ยุ่งยากไปด้วย
เราได้ปรารภความประสงค์การจัดสร้างมณฑปนี้ แก่บุคคลเป็นจำนวนมาก แต่ในที่สุดเรื่องนั้นจำต้องเงียบหายไป เพราะไม่มีทุนทรัพย์ ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๒๐ คุณประพัฒน์ เกษสอาด ได้มาเยี่ยมที่วัด เราได้ปรารภเรื่องนี้อีก คุณประพัฒน์เกิดความสนในเห็นดีด้วย ได้รับอาสาว่าจะเขียนแบบแปลนตัวมณฑปมาให้ดู
เมื่อคุณประพัฒน์เขียนแบบโครงร่างมณฑปเสร็จแล้ว ก็นำไปปรึกษาคุณประเวศ ลิมปรังสี ผู้อำนวยการกองหัตถศิสป์ แห่งกรมศิลปากร ให้ช่วยพิจารณาตกแต่ง แก้ไขเพิ่มเติม รายละเอียดต่างๆ ของตัวมณฑป คุณประเวศ เป็นผู้ที่สันทัด กับศิลปกรรมแห่งลุ่มแม่น้ำโขงผู้หนึ่งในปัจจุบนนี้ ได้ให้ความสนใจช่วยเหลือ ด้วยความยินดียิ่ง และในโอกาสต่อมา ก็เป็นผู้รับออกแบบตรวจตรา แก้ไขเพิ่มเติม งานก่อสร้างมณฑป ตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งสำเร็จสมบูรณ์ รวมทั้งการตกแต่งภายในด้วย
เมื่อแบบแปลนมณฑปเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณประพัฒน์ได้นำมาให้ดู นับว่าเป็นแบบมณฑปที่งดงามสง่าน่าดูหลังหนึ่งทีเดียว แต่ยังมิได้คำนวณเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างซึ่งเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงได้นำแบบแปลนกลับไปดำเนินงานต่อ แล้วก็หายเงียบไปอีกครั้งหนึ่ง เป็นระยะเวลานานพอสมควร จนคิดว่าคงจะไม่สำเร็จเสียแล้ว เราจึงได้ตัดสินเลิกล้มความคิดที่จะทำเสีย
ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๒๒ คุณประพัฒน์ ได้มาพบเรา ในระยะที่เงียบหายไปนั้น เธอได้นำแบบไปให้วิศวกร ช่วยคำนวณโครงสร้างคอนกรีตของตัวอาคารอยู่ และในเวลาเดียวกัน ก็ได้พยายามหาผู้มาช่วยคำนวณพื้นฐานรากด้วย เมื่องานยังไม่เสร็จ จึงยังไม่ได้มาแจ้งเรื่องราวให้ทราบ เธอขอดำเนินการต่อไป
เมื่อนายแพทย์วันชัย พงศ์พิพัฒน์ แห่งโรงพยาบาลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ผู้เคยมาบวชและจำพรรษาที่วัดหินหมากเป้งนี้ เมื่อทราบเรื่องเข้าก็ถวายเงินให้ไว้สองแสนบาท เพื่อเริ่มต้นงานก่อสร้าง และภายหลังยังได้ถวายเพิ่มอีกหนึ่งแสนบาท
ตัวมณฑปเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่ ๓ ชั้น ความกว้าง x ยาววัดได้ ๑๓ x ๑๓ เมตร ส่วนสูงประมาณ ๓๖ เมตร ได้อาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ร่วมกันพิจารณาและดำเนินการ กล่าวคือ งานด้านสถาปนิก และศิลปกรรม คุณประพัฒน์ และคุณประเวศเป็นผู้ควบคุมดูแล งานด้านโครงสร้างอาคาร ซึ่งเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมดนั้น ร.อ.ชัยชาญ ภิญญาวัธน์ ร.น. เป็นผู้คำนวณให้ ส่วนความมั่นคงของฐานรากของมณฑปหลังนี้ ซึ่งมีความยากลำบากเป็นพิเศษ เพราะพื้นฐานรากทั้งหมดของตัวอาคาร ต้องสร้างลงบนดินตลิ่งที่ลาดชันของฝั่งแม่น้ำโขง จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ การนี้
ศาสตราจารย์ ดร.ชัย มุกตพันธุ์ ได้รับภาระมาตรวจสอบพื้นที่ และชั้นหินต่างๆ แล้วออกแบบกำหนดฐานรากอาคารให้ทั้งหมด ทั้งๆ ที่ท่านมีงานรัดตัวอยู่มากมาย ก็ยังหาโอกาสปลีกตน และเวลา มาเป็นธุระให้ด้วยความยินดี น่าอนุโมทนาในกุศลจิตของท่าน ผู้ทำการก่อสร้างคือ คุณประมุข บรรเจิดสกุล แห่งบริษัท ป.ว.ช. ลิขิตการสร้าง ได้ช่วยเหลือถือเสมือนเป็นการก่อสร้างของตัวเอง มีสิ่งใดไม่ดีไม่เหมาะ ก็พยายามแก้ไขดัดแปลงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ แม้ว่าจะอยู่นอกรายการข้อผูกพันสัญญาก็ตาม
การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นได้ การทำสัญญาการก่อสร้างฉบับแรก เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๒ และฉบับที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ปีเดียวกัน ในราคาการก่อสร้างทั้งสิ้น ๒,๗๑๖,๙๑๓ (สองล้าน เจ็ดแสน หนึ่งหมื่น หกพัน เก้าร้อยสิบสามบาท) นี้ เป็นราคาเริ่มแรก ภายหลังต่อมา ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมรายการต่างๆ เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม และเหมาะสมขึ้นไปอีก เมื่อรวมเบ็ดเสร็จแล้ว ค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณหกล้านบาท
เมื่อการก่อสร้างเริ่มขึ้น ก็มีผู้มีจิตศรัทธา ถวายปัจจัยร่วมการก่อสร้าง มาโดยลำดับ คุณกษมา (ตุ๊) ศุภสมุทร ถวายหนึ่งแสนบาท คณะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทการบินไทย ได้ร่วมกันทอดกฐินสามัคคี ปี ๒๕๒๒ เพื่อหาปัจจัยสร้างมณฑปได้เงินหกแสนสี่หมื่นบาท
กรมการศาสนาอนุมัติเงินอุดหนุนสองแสนห้าหมื่นบาท และเมื่อการก่อสร้างดำเนินมา จนปรากฏเป็นรูปเป็นร่างบ้างแล้ว ก็มีผู้ศรัทธามาจากทั่วทุกสารทิศ เป็นรายบุคคลบ้าง เป็นคณะบ้าง มาได้เห็นการก่อสร้างก็เกิดจิตศรัทธา ร่วมบริจาคสมทบทุนการก่อสร้างเป็นอันมาก จนเหลือที่จะกล่าวนามท่านเหล่านั้นได้ในที่นี้ได้หมดสิ้น
ผู้ที่ร่วมบริจาคมากที่สุดและเป็นกำลังสำคัญเห็นจะเป็น คุณธเนตร เอียสกุล ได้บริจาควัสดุอุปกรณ์ และเงินสด ซึ่งเมื่อคิดรวมทั้งหมดแล้ว ก็เป็นมูลค่ามากกว่าหกแสนบาท นับว่าเป็นกำลังอันสำคัญผู้หนึ่งทีเดียว
มณฑปหลังนี้ นับว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่ค่อนข้างพิเศษ กล่าวคือ ได้รับการเอาใจใส่และเลือกสรร อย่างพิเศษทุกขั้นตอน เริ่มแต่การเลือกตำแหน่งสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งจะเห็นว่าเป็นจุดที่เด่น และเหมาะสม เมื่อมองจากภายในอาคาร สามารถเห็นทิวทัศน์โดยรอบ ไม่มีจุดอับ การออกแบบรูปทรงของอาคารเป็นมณฑป ซึ่งมีความงดงาม มีลักษณะพิเศษ เป็นศิลปะแห่งลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ โครงสร้างตลอดจนฐานรากสร้างอย่างแข็งแรงเป็นพิเศษ ทั้งนี้ด้วยความมุ่งหมาย จะให้เป็นถาวรวัตถุเป็นปูชนียสถาน อันมั่นคงไว้ชั่วกาลนาน
พระพุทธรูปประธานราคา ๙๕,๐๐๐ บาท บริษัท ป.ว.ช. ลิขิตการสร้าง และคุณจวบจิต รอดบุญ คุณโรส บริบาลบุรีภัณฑ์ และคณะ ออกคนละครึ่ง เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการออกแบบ และสร้างขึ้นอย่างงดงามสมส่วนในลักษณะศิลปะร่วมสมัย โดยปฏิมากรผู้ชำนาญแห่งกรมศิลปากร มีความสง่างาม และมีความนุ่มนวลเป็นพิเศษ ผิดไปจากพระพุทธรูปตามวัดหรือปูชนียสถานอื่นๆ
ชุกชีที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป พร้อมทั้งเครื่องประดับประดาตกแต่งทั้งหมด น.พ.แสวง วัจนะสวัสดิ์ และญาติมิตรเป็นผู้ถวายค่าก่อสร้าง เป็นเงินสี่แสนสองหมื่นห้าพันบาท
ความพิเศษสุดท้าย ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นความพิเศษยอดสุด ก็คือว่า มณฑปหลังนี้สำเร็จเป็นรูปร่างขึ้นมาได้ ก็ด้วยแรงศรัทธาล้วนๆ ทุนทรัพย์ที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมด มาจากการบริจาคด้วยศรัทธาอันบริสุทธิ์ของสาธุชนทั้งหลาย โดยที่ทางวัดไม่ได้มีการเรี่ยไรหรือออกฎีกาบอกบุญแต่อย่างใดเลย นับว่าเป็นความพิเศษอย่างยิ่งออกที่จะมีได้ในยุคปัจจุบันนี้
นับตั้งแต่ริเริ่มมา จนกระทั่งสำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ลงได้ในที่สุด ก็ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากคนหลายฝ่าย ซึ่งต่างก็มาร่วมมือร่วมใจกันด้วยความยินดี เต็มอกเต็มใจ ทั้งนี้เพราะทุกคนที่เราได้กล่าวนามถึงก็ดี ไม่ได้กล่าวนามก็ดี ต่างก็มีศรัทธาตรงกัน จึงได้มาร่วมกันทั้งกำลังทรัพย์ ทั้งกำลังกาย กำลังปัญญา ความคิดอันเป็นเหตุ ผลักดันให้เกิดมณฑปที่ทรงความสง่าเป็นเอก ยากที่จะมีอาคารหรือปูชนียสถานอื่นในสมัยนี้ทัดเทียมได้
สมควรที่สาธุชนทั้งหลายจะได้มีความภาคภูมิใจ เราปลื้มปีติในกุศลเจตนา และขออนุโมทนาในส่วนกุศล อันเกิดจากศรัทธาของท่านทุกผู้ทุกคน อนึ่งในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ได้ทำการซ่อมแซมทาสีภายนอกใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งปิดทองแต่สันหลังคาขึ้นไปจรดยอดมณฑป สิ้นทุนทรัพย์อีก ๓๓๗,๗๕๐.๐๐ บาท (สามแสน สามหมื่น เจ็ดพัน เจ็ดร้อย ห้าสิบบาทถ้วน) ซึ่งก็ได้จากศรัทธาของท่านสาธุชนทั้งหลาย ที่พร้อมใจกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเป็นอนุสรณ์แก่เราผู้สร้าง ซึ่งมีอายุครบ ๙๐ ปีบริบูรณ์ เมื่อ ๒๖ เมษายน ๒๕๓๕ นั้นด้วย
๓๕.๓ ศาลาเทสรังสี
ปฐมศาลาของวัดหินหมากเป้ง เป็นศาลาโรงฉัน ย่อมยกพื้นสูง เสาไม้ พื้นปูไม้กระดาน ฝาใช้ไม้ไผ่ขัดแตะ หลังคามุงด้วยสังกะสี มีสภาพไม่คงทนถาวร เมื่อเราได้มาพักอยู่ที่นี้ได้ในราวสองปี ญาติโยมทางกรุงเทพฯ ก็เดินทางมาที่แห่งนี้มากขึ้น เมื่อได้มาพบเห็นสถานที่แล้วชอบใจ เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงร่วมใจกันหาเงินมาก่อสร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ แทนศาลาหลังเดิม ซึ่งชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว
ศาลาการเปรียญที่ก่อสร้างขึ้นนั้น มีลักษณะเป็นเรือนไม้ทรงไทย สองชั้น ขนาดกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๑๗ เมตร โดยใช้แรงงานของพระภิกษุสามเณร ช่วยกันก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่ สร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๐ ค่าก่อสร้างเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๘๔,๗๖๓.๐๐ บาท (แปดหมื่น สี่พัน เจ็ดร้อย หกสิบสามบาทถ้วน) และได้ให้นามศาลาหลังนั้นว่า “ศาลาเทสก์ประดิษฐ์”
กาลเวลาล่วงเลยมาโดยลำดับ ญาติโยมจากทางกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ได้พากันมาที่วัดหินหมากเป้งนี้มากขึ้น กอปรด้วยการคมนาคมสะดวกขึ้น เพราะทางราชการได้ตัดถนนผ่านหน้าวัด พระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ที่มาอยู่พักจำพรรษารักษาศีลปฏิบัติภาวนา ทั้งที่มาอยู่ประจำ และมาพักเป็นครั้งคราวก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงเทศกาลวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ศาลาการเปรียญที่มีอยู่ จึงไม่สามารถจะต้อนรับญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาได้เพียงพอ ประกอบกับศาลาเทสก์ประดิษฐ์ก็ชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากปลวกกัดกิน จนเสียหายเป็นบางส่วน อาจจะไม่ปลอดภัย และอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ในภายหน้า
คณะกรรมการวัดหินหมากเป้ง จึงได้มาปรึกษาหารือกันกับเรา และมีความเห็นพ้องตรงกันว่า ควรจะสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ ให้กว้างขวาง และคงทนถาวรขึ้นกว่าเดิม เพื่อเป็นที่ประกอบศาสนกิจสืบต่อไป
ศาลาการเปรียญหลังใหม่นี้ ได้สร้างขึ้นที่เดิม โดยรื้อศาลาหลังเก่าออกเสีย มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ขนาดกว้าง ๒๓.๐ เมตร ยาว ๔๔.๐ เมตร ชั้นบนภายในตัวอาคารเป็นห้องโถงตลอด ปูพื้นด้วยไม้ปาร์เก้ กั้นฝาโดยรอบด้วยกระจกกรอบอะลูมิเนียม พร้อมทั้งติดประตูหน้าต่างโดยรอบ ระเบียงและชานศาลารอบตัวอาคารปูพื้นด้วยหินอ่อน ชั้นล่างเป็นห้องโถงตลอด ปูพื้นด้วยหินอ่อนทั้งหมด ชานพักบันไดและขั้นบันไดทำด้วยหินกรวดล้าง การออกแบบโดย อาจารย์สาคร พรหมทะสาร แห่งวิทยาลัยเทคนิคหนองคาย ทำสัญญาจ้างเหมาแรงงานกับ นายกองศรี แก้วหิน เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๒๘ โดยทางวัดเป็นผู้จัดหาวัสดุก่อสร้างทั้งหมด การก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญา เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ ค่าก่อสร้างทั้งศาลาการเปรียญ และหอระฆัง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๗,๖๙๓,๙๒๖.๕๒ บาท (เจ็ดล้าน หกแสน เก้าหมื่น สามพัน เก้าร้อย ยี่สิบหกบาท ห้าสิบสองสตางค์) เสร็จแล้ว ได้ขนานนามศาลาหลังนี้ว่า “ศาลาเทสรังสี พ.ศ.๒๕๒๙”
๓๕.๔ จิตกรรมฝาผนัง
ภายหลังบรรดาศิษยานุศิษย์ได้มีจิตศรัทธา จะให้มีการวาดภาพจิตกรรมฝาผนัง บนผนังศาลาการเปรียญชั้นบน จึงได้ว่าจ้าง ช่างเขียนภาพจิตกรรมฝาผนัง ด้วยสีน้ำมันอย่างดี ช่วงกลางเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตอนประสูติ เสด็จออกบรรพชา ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ช่องด้านขวามือ เป็นภาพเรื่องราวเกี่ยวกับวัดหินหมากเป้ง ด้านซ้ายมือเป็นภาพพระธาตุพนม และเรื่องราวประเพณีท้องถิ่นภาคอีสาน โดยทำสัญญาจ้างกับ นายสามารถ ทองสม เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๐ ในราคา ๖๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท (หกแสน ห้าหมื่นบาทถ้วน) กำหนดแล้วเสร็จภายใน ๑๒ เดือน ทั้งนี้อยู่ในความควบคุม ของคุณไข่มุกด์ ชูโต
๓๕.๕ หอระฆัง
ต่อมาได้สร้างหอระฆังไว้ ตรงมุมศาลาด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการก่อสร้างหอระฆังดังกล่าวนั้น คุณธเนตร เอียสกุล มีจิตศรัทธาบริจาคค่าแรงงานในการก่อสร้างทั้งหมดตามสัญญา จำนวน ๓๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สามแสน ห้าหมื่นบาทถ้วน) และได้หล่อระฆังมาถวายอีกด้วย ในราคา ๖๐,๐๐๐.๐๐ บาท (หกหมื่นบาทถ้วน)
๓๕.๖ หอสมุดวัดหินหมากเป้ง
หอสมุดเดิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ตั้งอยู่ตรงอาคารหอสมุดหลังปัจจุบันนี้ เมื่อทางวัดได้ดำเนินการก่อสร้างศาลาการเปรียญ ใกล้จะแล้วเสร็จตามสัญญา เราได้พิจารณาเห็นว่า ควรจะสร้างอาคารหอสมุดขึ้นใหม่ ให้มีสภาพสอดคล้องกับศาลาการเปรียญ ก็ได้รับความช่วยเหลือด้วยดีจาก คุณชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว แห่งบริษัท ดีไซน์ ๑๐๓ จำกัด กรุงเทพฯ ช่วยออกแบบแปลนให้ มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สองชั้น ขนาดกว้าง ๑๒.๓๐ เมตร ยาว ๑๓.๐๐ เมตร หลังคาทรงไทยแบบสามมุข มีหน้าบันทำลวดลายปูนปั้นทั้งสามด้าน ทำสัญญาจ้างเหมาแรงงานกับ นายกองศรี แก้วหิน เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๘ โดยทางวัดเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมด แล้วเสร็จตามสัญญา เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๙ สิ้นค่าก่อสร้างจำนวน ๗๒๕,๐๕๔.๖๓ บาท (เจ็ดแสน สองหมื่น ห้าพัน ห้าสิบสี่บาท หกสิบสามสตางค์)
๓๕.๗ หอกลอง
เมื่องานก่อสร้างหอสมุดเสร็จเรียบร้อยตามสัญญาแล้ว คุณธเนตร เอียสกุล ผู้มีศรัทธากล้าแข็งคนหนึ่ง ได้ปวารณาขออนุญาตต่อเรา ขอเป็นเจ้าภาพสร้างหอกลอง พร้อมกับจัดหากลองขนาดใหญ่ มาถวาย เพื่อให้เป็นคู่กันกับหอระฆัง สมบูรณ์แบบตามประเพณีนิยม ประกอบกับศรัทธาญาติโยมทางจังหวัดสกลนคร จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมุกดาหาร และบ้านขัวสูง มีจิตศรัทธาสร้างโปงขนาดใหญ่มาถวาย เราจึงได้ออกแบบและว่าจ้างให้ช่างมาทำหอกลองขึ้น ชั้นบนเป็นที่ตั้งกลอง ชั้นล่างเป็นที่แขวนโปง สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน ๖๕,๐๐๐.๐๐ บาท (หกหมื่น ห้าพันบาทถ้วน) คุณธเนตร รับเป็นเจ้าภาพออกเงินทั้งหมด
๓๕.๘ กุฏิเสนาสนะ
กุฏิเสนาสนะ ที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่ง ที่ต้องจัดให้มีขึ้นตามความเหมาะสม กุฏิที่สร้างขึ้นแต่แรกมาอยู่ใหม่ๆ เพียงไม่กี่หลัง บางหลังก็ชำรุดทรุดโทรม จำเป็นต้องซ่อมแซม หรือรื้อทำเสียใหม่ให้ถาวร ก็มีขณะเดียวกัน ก็สร้างเพิ่มเติมขึ้นมาอีกด้วย เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของพระภิกษุสามเณรที่เพิ่มขึ้น
กุฏิในวัดหินหมากเป้งส่วนใหญ่เป็นกุฏิทรงไทย ขนาดเล็กใหญ่ตามความเหมาะสม ซึ่งล้วนแล้วแต่ เกิดจากศรัทธา ของญาติโยมทั้งหลาย มาปลูกสร้างถวาย คนละหลังสองหลัง บางท่านถึงสามหลังก็มี เพื่อหวังประโยชน์ แก่พระภิกษุสามเณรจะได้อยู่พักจำพรรษา และผู้ที่สนใจในการปฏิบัติก็มาขอปลูกบ้านพัก เพื่ออยู่ภาวนาบำเพ็ญเพียร จนปัจจุบันนี้ มีกุฏิถาวรสำหรับพระภิกษุสามเณรจำนวน ๕๖ หลัง บ้านพักชีและบ้านพักญาติโยมจำนวน ๓๗ หลัง ศาลาแม่ชี โรงครัว ห้องน้ำห้องส้วม ถังน้ำประปาขนาดใหญ่ สำหรับจ่ายน้ำใช้ทั่วทั้งวัด เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เมื่อประมาณราคาแล้วมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านบาท
เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ นายบุญ สกุลคู พร้อมด้วยญาติมิตรได้มีจิตศรัทธา สร้างอาคารมอบถวาย เป็นอาคารเรียนนักธรรม แก่พระภิกษุสามเณรที่อยู่จำพรรษา เป็นอาคารชั้นเดียวหนึ่งหลัง สิ้นเงินค่าก่อสร้างในราว ๓๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน)
๓๕.๙ กำแพงวัด
นับแต่เราได้มาอยู่ที่ วัดหินหมากเป้ง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๘ การพัฒนาวัด และการก่อสร้างถาวรวัตถุ ก็ค่อยเจริญเป็นมาโดยลำดับ ด้วยแรงศรัทธาของบรรดาศิษยานุศิษย์ และญาติโยมทั้งหลาย ขณะเดียวกัน ก็ซื้อที่ดินขยายอาณาเขตของวัดเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ นายสรศักดิ์ สร้อยสนธ์ (นายอำเภอศรีเชียงใหม่ขณะนั้น) ได้ช่วยเป็นธุระติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดิน เพื่อขอเอกสารสิทธิต่อทางราชการถูกต้องตามกฏหมาย จนสำเร็จเรียบร้อยตามประสงค์ ปรากฏตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๐๐๐๑ เล่มที่ ๑ ก.หน้าที่ ๐๑ ออกให้เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๘ เนื้อที่ ๒๖๑ ไร่ ๒ งาน ๙๒ ตารางวา นับว่าเป็นสถานที่
แห่งแรก และแห่งเดียวในเขตพื้นที่นี้ ที่ได้รับเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฏหมาย
เราจึงพิจารณาเห็นว่า วัดหินหมากเป้ง ก็มีการพัฒนาเจริญขึ้นมากแล้ว บ้านเมืองโดยเฉพาะหมู่บ้านใกล้เคียง ก็เจริญขยายกว้างขวางขึ้นโดยลำดับ สมควรที่จะกำหนดเขตแดนของวัด ให้เป็นเอกเทศส่วนหนึ่งต่างหากให้ชัดเจน จึงได้ขอความร่วมมือไป ยังสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) จังหวัดหนองคาย ก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีจาก คุณวรพจน์ ธีระอำพน หัวหน้าสำนักงาน ในด้านการออกแบบการปรับปรุงพื้นที่ เตรียมการก่อสร้าง และทำถนนดินรอบแนวกำแพง หลังจากก่อสร้างเสร็จแล้ว โดยได้ส่งช่างผู้ชำนาญงานมาคอยดูแลช่วยเหลือตลอด จนงานแล้วเสร็จ
ทำสัญญาจ้างเหมา ทั้งแรงงานและวัสดุอุปกรณ์ กับ นายกองศรี แก้วหิน เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๙ ด้านหน้าจากประตูใหญ่ไปจนสุดเขตแดนทางทิศตะวันตก ความยาว ๖๕๔ เมตร ทางทิศตะวันตกทำไปจนจรดริมแม่น้ำโขง ความยาว ๕๓๓ เมตร รวมค่าก่อสร้างทั้งสองด้านเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑,๖๑๓,๓๒๐.๐๐ บาท (หนึ่งล้าน หกแสน หนึ่งหมื่น สามพัน สามร้อย ยี่สิบบาทถ้วน) อนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ได้สร้างกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก ด้านหน้าวัดจากซุ้มประตู ไปจนจรดแม่น้ำโขงทางด้านทิศใต้ ความยาวประมาณ ๖๕๐ เมตร สิ้นทุนทรัพย์อีก ๑,๐๙๐,๐๐๐.๐๐ บาท (หนึ่งล้าน เก้าหมื่นบาทถ้วน)
ถวายพระราชกุศล
หลังจากการก่อสร้างศาลาการเปรียญ หอสมุด หอระฆัง หอกลอง และกำแพงวัดเสร็จเรียบร้อยตามประสงค์ เราเห็นว่า ถาวรวัตถุเหล่านี้ เกิดขึ้นได้ด้วยแรงศรัทธาของญาติโยมทั้งหมด เมื่อการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย ก็จำเป็นที่ควรจะมีการฉลอง เพื่อประกาศ ให้ท่านผู้มีส่วนช่วยเหลือในการนั้นๆ ได้ทราบถึงความสำเร็จ และได้ร่วมอนุโมทนากุศลบุญโดยพร้อมเพียงกัน ประกอบกับในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ซึ่งชาวไทยทั้งหลาย ถือว่าเป็นโอกาสมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของปวงชนชาวไทยทั้งหลาย ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ จึงได้กำหนดการฉลองถาวรวัตถุเหล่านั้น ในวันที่ ๒๕- ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๐ ซึ่งเป็นวาระที่เรามีอายุครบ ๘๕ ปีบริบูรณ์ และได้ทำพิธีถวายพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกันทีเดียว
ในการนี้มีพระเทพวราลังการ (ศรีจันทร์ วัณณาโภ) รองเจ้าคณะภาค ๑๑ (ธ) วัดศรีสุธาวาส จังหวัดเลย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ มีวรรณดิษฐ์) เจ้าคณะภาค ๙ (ธ) วัดศรีเมือง จังหวัดหนองคาย พระเทพเมธาจารย์ รองเจ้าคณะภาค ๘ (ธ) โพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี พระภาวนาพิศาลเถระ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา และพระเถรานุเถระทั้งหลายฝ่ายฆารวาสมี พล.อ.อ.หะริน หงสกุล เป็นประธานในพิธีนำถวายถาวรวัตถุเหล่านั้น และนำถวายพระราชกุศล ได้รับความกรุณาจากสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวัฑฒโน) วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนั้น ดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระญาณสังวร ทรงแต่งคำถวาย
นอกจากการก่อสร้าง เป็นการตอบแทนบุญคุณของพระพุทธศาสนา สำหรับในวัดหินหมากเป้ง ที่เราได้อาศัยร่มเงาอยู่ มาเป็นเวลากว่ายี่สิบปีดังกล่าวแล้ว ทรัพย์ที่ญาติโยมมีศรัทธาบริจาค ปวารณาถวายเป็นการส่วนตัวแก่เรา ก็ยังมีเหลือพออยู่อีกเฉลี่ยให้แก่วัดอื่นๆ ได้ เราก็เฉลี่ยไป เพื่อก่อสร้างถาวรวัตถุ ให้เป็นการทนุบำรุงพระพุทธศาสนา
พร้อมกันนั้น มีญาติโยมมารายงานถึงความจำเป็น ที่ควรต้องช่วยด้านสาธารณประโยชน์ต่างๆ อันมีกิจการโรงเรียน หรือโรงพยาบาล เป็นอาทิ เราก็ช่วยเหลือเจือจานไป ตามกำลังความสามารถ เพื่อประโยชน์แก่สถานที่นั้น และเพื่อประโยชน์ของผู้บริจาคเงินปวารณาถวายทานแก่เราแต่เบื้องต้นด้วย
การก่อสร้างทั้งหมด โดยสรุปใจความมานี้ ย่อมเป็นการยุ่งยากแก่ผู้กระทำอย่างยิ่ง โดยส่วนมากผู้ที่จะทำไม่ค่อยสำเร็จ ก็เพราะขาดทุนทรัพย์และศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดคุณธรรมประจำตัว เมื่อทำเสร็จก็ดีอกดีใจ เมื่อทำไม่สำเร็จก็ตีอกชกหัววุ่นวายไปหมด
แต่สำหรับเรา ที่กระทำมาทั้งหมดนั้น ไม่รู้สึกอะไรเลย สำเร็จก็ช่าง ไม่สำเร็จก็ช่าง ใจมันเฉยๆ อยู่ การกระทำสิ่งใดๆ เราถือว่า เป็นสักแต่ว่าทำเพื่อกิจพระศาสนา ปัจจัยที่ทำก็ไม่ใช่ทุนทรัพย์ของตน เป็นของศรัทธาญาติโยมชาวบ้านทั้งหมด เมื่อทำสำเร็จไปได้ ก็เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา และเป็นบุญกุศลแก่ญาติโยมทั้งหลาย
การจะทำอะไร ก็ไม่ต้องบอกบุญเรี่ยไร การบอกบุญเรี่ยไรเป็นการจู้จี้ ทำให้เขารำคาญเบื่อหน่าย การที่เราได้กระทำไปจนสำเร็จทุกรายการนั้น ก็ด้วยทุนทรัพย์ที่ญาติโยมจากจตุรทิศทั้งสี่ จากต่างประเทศก็มี ได้มาปวารณาถวายไว้
ในส่วนที่ปวารณาถวายเป็นกฐิน ผ้าป่า สังฆทาน ค่าภัตตาหาร ค่าไฟฟ้า น้ำประปานั้น ได้รวบรวมไว้ เป็นทุนทรัพย์ของทางวัดโดยเฉพาะ ใช้เฉพาะในกิจการของวัดหินหมากเป้งเท่านั้น
ในส่วนที่ปวารณาถวายเป็นการส่วนตัว แล้วแต่เราจะใช้ในกิจการใดตามอัธยาศัย ตั้งแต่หนึ่งบาท สิบบาท ร้อยบาท พันบาท หมื่นบาท แสนบาท ตามกำลังทรัพย์และศรัทธานั้น เมื่อเห็นว่ามีจำนวนมากพอสมควร ที่จะสร้างถาวรวัตถุเพื่อสาธารณประโยชน์ จึงได้นำไปใช้ ในกิจการที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ส่วนทุนทรัพย์ก็ไม่เห็นขาดตกบกพร่อง ศรัทธาความเชื่อมั่นในกิจการงานของตน ก็ตั้งมั่นดิบดี ส่วนคุณธรรมของตัวเองก็ไม่เสื่อมถอย กระทำมาโดยเรียบร้อย สาธุ สาธุ สาธุ เรื่องเหล่านี้เป็นเพราะบุญกุศลที่เราได้เคยกระทำมา จึงสำเร็จเรียบร้อยด้วยดีโดยประการทั้งปวง ดังกล่าวแล้ว
เราเอง หาเงินไม่เป็นเลยแม้แต่สตางค์เดียว ญาติโยมจากจตุรทิศทั้งสี่ มามอบถวายทำบุญไว้ เราเลยกลายเป็น “พระคลังสมบัติ” ของพุทธบริษัท ที่มาบริจาคทำบุญในพระพุทธศาสนาไปเลยทีเดียว
“พระคลังสมบัติ” ของพุทธศาสนิกชนที่บริจาคปัจจัย ทำบุญถวายไว้ในพระพุทธศาสนานี้ เป็นการยากมากแก่ผู้บริหาร เพราะลูกค้า (ผู้ถวาย) ไม่มีสมุดบัญชีบันทึกไว้ เป็นแต่พระคลังสมบัติมีไว้ฝ่ายเดียว เหตุนั้นจึงเป็นการยากที่จะบริหาร แต่การบริหารก็ได้เป็นไปแล้วด้วยความเรียบร้อย กล่าวคือ เมื่อมีเงินทุนมากพอสมควรที่จะสร้างสิ่งใดได้ จะเป็นอุโบสถ ศาลาการเปรียญ อาคารเรียน หรือสิ่งใดก็ดี ก็จะถอนทั้งเงินทุนและดอกเบี้ยมาใช่จ่ายให้จนหมดเกลี้ยง ไม่เหลือหลอแม้แต่สตางค์เดียว
ผู้จะเป็นนายพระคลังสมบัติ บริหารทุนทรัพย์ของพุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญนี้ ถ้าหากไม่เชื่อฝีมืออันขาวบริสุทธิ์ของตนเองถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว อย่าพึงทำเลย ขืนทำไปก็เสื่อมเสียพุทธศาสนาอันเป็นที่เคารพของตน และตนเองก็เสื่อมเสียด้วย ดังมีตัวอย่างให้เห็นได้ในที่ทั่วไป
ตัว “ง” ตัวนี้ร้ายกาจมาก ทำให้คนเสียมานับไม่ถ้วนแล้ว แต่ผู้บริหารพระคลังสมบัตินี้ขอยืนยันว่า เรื่องเหล่านี้บริสุทธิ์สะอาดเต็มที่ ผู้มีคุณธรรมหิริโอตตัปปะอยู่ในตัว อย่ากลัวเลยว่าจะเป็นเช่นนั้น การทำสิ่งใดเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ย่อมก่อให้เกิดผลเสียหาย การสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อพระพุทธศาสนาและศาสนิกชนทั่วไป ถ้าหวังจะได้อย่างเดียว ย่อมเป็นการเสียหายมาก ถ้าหากมุ่งประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาและสาธารณกุศล ไม่ใช่ของใครทั้งหมด จะเป็นผลดีมาก
โดยเฉพาะ “พระ” เมื่อก่อสร้างสิ่งต่างๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นย่อมพาไป ส่วนตนเองทอดทิ้งกิจในพระพุทธศาสนาและพระธรรมวินัยหมด ไปสร้างสิ่งต่างๆ ภายนอก แต่ตนไม่สร้างตนเอง ย่อมเป็นการเสื่อมเสียอย่างยิ่ง
จากสภาพของป่าดงทึบ ที่เราได้เคยเห็นครั้งแรก เมื่อประมาณกว่า ๖๐ ปีก่อนหน้านี้ เราได้มาอยู่ตั้งแต่ปี ๒๕๐๗ และพัฒนาสถานที่นี้ จนถึงบัดนี้ กาลเวลาได้ล่วงเลยมายี่สิบกว่าปีแล้ว การพัฒนาวัดที่ค่อยเจริญมาโดยลำดับ ตั้งแต่ต้นจนสำเร็จบริบูรณ์เป็นวัดที่ถาวร ดังที่ปรากฏแก่สายตาของท่านทั้งหลายอยู่ ณ บัดนี้แล้วนั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ เกิดจากศรัทธาของญาติโยมทั้งหลาย บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ ตามความสามารถของแต่ละท่านแต่ละคน เกินกว่าที่จะกล่าวนามท่านทั้งหลายได้ทั้งหมด ผลงานจึงปรากฏอยู่จนบัดนี้
เมื่อคราวที่ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาปริณายก (วาสน์ วาสโน) เสด็จมาเป็นประธานในพิธีฉลองมณฑป ทรงพอพระทัยมาก โปรดให้ยกขึ้นเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง พร้อมทั้งประทานประกาศนียบัตร และพัดพัฒนาให้เป็นที่ระลึก เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๕ นับว่าเป็นเกียรติประวัติที่สำคัญ ของวัดหินหมากเป้ง อีกอย่างหนึ่ง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วัดหินหมากเป้งแห่งนี้จะเป็นศาสนาสถาน สำหรับบำเพ็ญสมณกิจ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนาสืบต่อไปนานเท่านาน จึงขออนุโมทนาให้ท่านทั้งหลายทั้งมวล ที่มีส่วนช่วยในการทำนุบำรุงวัดหินหมากเป้งแห่งนี้ จงประสบแต่ความสุขความเจริญ งอกงามไพบูลย์ และมั่นคงในบวรพุทธศาสนาตลอดไปชั่วกาลนาน
การทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น อันจะเป็นประโยชน์ได้ที่แท้จริงนั้น จะต้องทำประโยชน์ของตนให้ได้เสียก่อน แล้วนำประโยชน์นั้นๆ ออกแจกให้แก่คนอื่น หากคนอื่นเขาไม่รับของเรา เราก็ไม่เสียหายไปไหน อันนี้เป็นกรณียกิจที่แท้จริงของเรา นับแต่เราได้บวชมาในพุทธศาสนา ได้กระทำมามิได้ขาดตลอดเวลา ในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๓ ได้ทรงพระมหากรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ให้เราเป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชนิโรธรังสีคัมภีร ปัญญาวิศิษฏ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม อรัณยวาสี
สำหรับการได้รับสมณศักดิ์ของพระกัมมัฏฐาน โดยเฉพาะคณะลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ นี้ เรายังคงยืนยันความรู้สึกส่วนตัว ดังที่เคยกล่าวไว้แล้ว ในช่วงประวัติของเรา ตอนที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เมื่อปี ๒๕๐๐ นั้น แต่นั่นแหละ ท่านผู้ใหญ่ได้อธิบายว่า การสถาปนาเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์นี้ เป็นพระราชาประเพณีอันมีมาแต่โบราณกาล เป็นส่วนพระราชทานสังคหธรรม ของพระมหากษัตริย์ไทย องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงยกย่องพระมหาเถรานุเถระผู้รับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณร ให้ดำรงอยู่ในสมณฐานันดรโดยสมควร และเมื่อได้บำเพ็ญคุณความดีเพิ่มขึ้น ก็จะพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ถวายต่างเครื่องราชสักการะ เป็นการประกาศเกียรติคุณ เราพระป่า ก็ได้แต่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ขอถวายอนุโมทนา และถวายพระพร
๓๖. พรรษา ๗๑ – ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๓๖ – ๒๕๓๗)
เราได้พาท่านผู้อ่านทั้งหลาย เที่ยวชมโลกของวัดหินหมากเป้งเสียยืดยาว มาเป็นเวลานานพอสมควร เป็นธรรมดาของโลก เมื่ออยู่ที่ใดที่หนึ่งนานๆ หรือแม้แต่การมีอายุชีวิตที่ยืนยาวนาน ก็ย่อมปรากฏร่องรอยและหลักฐานของสิ่งนั้นๆ เป็นสักขีพยานตามวิสัย ต่างแต่ดีกับชั่วเท่านั้น ซึ่งท่านผู้มีปัญญาและคุณธรรมเพียงพอ ย่อมสามารถพิจารณาหาเหตุผลได้ด้วยตนเอง ตามความเป็นจริง
คนเราทุกคนที่เกิดมาแล้ว ย่อมมีชรา และพยาธิเบียดเบียนไม่มากก็น้อย ตามแต่บุญกรรมจะประดิษฐ์ เราเองก็หาได้พ้นจากธรรมข้อนี้ไม่ ยิ่งชราภาพมากขึ้นพยาธิก็ยิ่งทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว เวทนาก็ปรากฏอยู่เนืองๆ แต่ด้วยอาศัยการอบรมสมาธิปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งเราได้บำเพ็ญมาโดยตลอดชีวิตนี้ ก็พออาศัยอุบายปัญญารักษาตนเรื่อยมาโดยลำดับ จนเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๘ เราก็ถูกพยาธิเข้าครอบงำอีกวาระหนึ่ง ตามวิชาการแพทย์สมัยปัจจุบัน เรียกว่า โรคเส้นโลหิตในสมองตีบ เป็นผลให้ร่างกายซีกซ้ายทำงานไม่เป็นปกติ
เมื่อสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ ทรงทราบถึงการอาพาธของเรา ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแพทย์รุ่งธรรม ลัดพลี แพทย์หลวงประจำพระองค์ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ นายแพทย์นิพนธ์ พวงวรินทร์ ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาดูแลรักษาเราที่วัดหินหมากเป้งอย่างดีที่สุด พร้อมด้วยคณะแพทย์จากจังหวัดหนองคาย มีนายแพทย์บุญเรือง ชูชัยแสงรัตน์ (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังคมขณะนั้น) นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อคนปัจจุบัน) นายแพทย์ปิยวัฒน์ นิลดำ เป็นต้น พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอีกหลายท่าน เกินกว่าที่เราจะกล่าวนามท่านทั้งหมดได้
เรารู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้า ฯ ทั้งสองพระองค์ ตลอดจนคณะแพทย์ทั้งหลายเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง การอาพาธของเราในครั้งนั้น ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจากคณะแพทย์ดังกล่าวแล้วนั้น เพียงไม่กี่สัปดาห์อาการอาพาธของเราก็หายคืน จนเป็นที่พอใจของคณะแพทย์ แต่ก็นั่นแหละ คนแก่ก็ไม่ต่างอะไรกับไม้ผุๆ แม้จะเยียวยารักษาทำนุบำรุงสักปานใด ก็พอได้อาศัยมีชีวิตอยู่ไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น
หลังจากการอาพาธของเราในครั้งนั้น สุขภาพของเราก็ค่อยร่วงโรยลง ตามวัยอายุสังขารโดยลำดับ จนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๕ เราก็ได้อาพาธหนักอีกครั้งหนึ่ง ด้วยโรคปอดอักเสบ (ตามที่แพทย์ลงความเห็น) และหลังจากนั้นโรคแทรกอื่นๆ ก็คอยหาช่องทางและอุบายเข้ารบกวนอยู่เสมอๆ แม้คณะแพทย์จะพยายามดูแลรักษาเราอย่างดี จนหายจากอาพาธ แต่สุขภาพร่างกายของเรา ก็ไม่เอื้ออำนวยที่จะให้แข็งแรงดังเดิม เป็นเหตุให้เรารำลึกถึงสถานที่เก่า ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศ โดยเฉพาะอากาศ ที่สัปปายะแก่ธาตุขันธ์ของเรามาก ทั้งเราเคยได้รับความวิเวกมาแต่ก่อนที่จะไปอยู่วัดหินหมากเป้ง
สถานที่นั้นคือ วัดถ้ำขาม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งเราเคยมาอยู่จำพรรษาแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๗ ที่นี้เป็นวัดเก่าของท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านเคยอยู่มาก่อน
เราจึงได้ตัดสินใจลาหมู่เพื่อนและญาติโยม ออกจากวัดหินหมากเป้งเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๖ มาขออาศัยอยู่ ณ วัดถ้ำขาม ซึ่งมีพระอาจารย์เขี่ยม โสรโย เป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ยินดีและเต็มใจอย่างยิ่ง อำนวยความสะดวกแก่เราทุกอย่างทุกประการ เท่าที่ท่านจะกระทำได้ มิให้เราต้องอนาทรเดือดร้อนเลยแม้สักเล็กน้อย
เราได้มาพักอยู่ที่กุฏิเก่าที่ท่านอาจารย์ฝั้นเคยอยู่ เมื่อเราได้มารับอากาศและสัมผัสสถานที่ทีวัดถ้ำขาม ไม่นาน สุขภาพร่างกายของเราก็ฟื้นฟูขึ้นอย่างน่าแปลก การฉันอาหารกลับมีรสชาติดี การสรงน้ำก็สดชื่น อาการอ่อนเพลียที่เคยเป็น และโรคภัยบางอย่างก็หายไปเองโดยปริยาย เราจึงตัดสินใจอยู่จำพรรษา ณ วัดถ้ำขามกับพระอาจารย์เขี่ยมเรื่อยมาจนปัจจุบัน
ถึงกระนั้นก็ตาม ศาสตราจารย์นายแพทย์นิพนธ์ พวงวรินทร์ และนายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ก็ยังติดตามมาเยี่ยมเยียน ดูแลสุขภาพร่างกายของเราอยู่เสมอๆ มิได้ขาด ทั้งคณะแพทย์ในบริเวณใกล้เคียง มีโรงพยาบาลพรรณานิคม (โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น) โรงพยาบาลพังโคน โรงพยาบาลสว่างแดนดิน โรงพยาบาลสกลนคร ตลอดจนญาติโยมชาวจังหวัดสกลนคร ก็ได้ให้การอุปการะแก่เราอย่างดียิ่ง จึงขอจารึกน้ำใจของท่านทั้งหลายเหล่านั้นไว้ ณ ที่นี้ด้วย
๓๗. บทสรุป
นับแต่อุปสมบทมาจนบัดนี้ มีพรรษา ๗๑ แล้ว เราได้บำเพ็ญแต่กรณียกิจ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนและเพื่อคนอื่นตลอดมา โดยได้เริ่มตั้งต้นแต่ประโยชน์ตน แล้วก็ต่อไปเพื่อประโยชน์คนอื่น กล่าวคือ ได้ออกเที่ยวธุดงค์ตั้งแต่ได้อุปสมบทพรรษาแรก ได้ติดตามครูบาอาจารย์ประกอบกิจวัตร และตั้งใจฝึกหัดตามคำสอนของท่านโดยลำดับ ไม่มีกิจธุระอย่างอื่นที่ต้องทำจึงได้มีโอกาสบำเพ็ญเพียรภาวนาดีมาก
พอพรรษาต่อๆ มา ได้แยกตัวออกไป ต้องรับภาระมาก มีหมู่เพื่อนคอยติดตามอยู่เสมอ และจะต้องเป็นภาระในการอบรมสั่งสอนญาติโยมเป็นประจำ เพราะสมัยนั้นพระกัมมัฏฐานมีจำนวนน้อย พอเห็นรูปใดมีลูกศิษย์ติดตามมากหน่อย เขาก็ถือว่าเป็นอาจารย์ แล้วก็แห่กันไปหารูปนั้น ถึงอย่างนั้นก็ดี เรามิได้ท้อแท้ใจในการทำความเพียร ดูเหมือนเป็นเครื่องเตือนสติของเรา ให้ทำความเพียรกล้าแข็งขึ้นไปเสียอีก ตกลงประโยชน์ของเราก็ได้ คนอื่นก็ไม่เสีย
๓๗.๑ บุญคุณของบิดามารดา
คนเราเกิดมาได้ ชื่อว่าเป็นบุญคุณของกันและกัน บุตรธิดาเป็นหนี้บุญคุณของบิดามารดา บิดามารดาเป็นหนี้ใหม่ของบุตรธิดา ต่างก็คิดถึงหนี้ของกันและกัน โดยที่ใครๆ มิได้ทวงหนี้ แต่หากคิดถึงหนี้เอาเอง แล้วก็ใช้หนี้ด้วยตนเองตามความสำนึกของตนๆ บางคนก็น้อยบ้างมากบ้าง เพราะหนี้ชนิดนี้เป็นหนี้ที่ตนหลงมา ทำให้เกิดขึ้นเอง ไม่มีใครบังคับและค้ำประกัน
บางคนคิดถึงหนี้สิ้นที่ตนมีแก่บิดามารดามากมายเหลือที่จะคณานับ แต่เกิดจนตาย บิดามารดาถนอมเลี้ยงลูกด้วยความเอ็นดูทุกอย่าง เป็นต้นว่า นั่ง นอน ยืน เดิน พูดจา ต้องอาศัยบิดามารดาสั่งสอนทุกอย่าง เวลาเกิดโทสะฟาดตีด้วยไม้หรือฝ่ามือก็ยังมีความระลึกตัวอยู่ว่านี่ลูกนะๆ บางทีตีไม่ลงก็ยังมี มันเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ผู้เกิดมา
บิดามารดาย่อมมีความรักบุตร แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานก็ยังมีความรักลูกโดยไม่ทราบความรักนั้นว่ารักเพื่ออะไร และหวังประโยชน์อะไรจะช่วยเหลืออะไรแก่ตนบ้าง ลูกๆ ก็ทำนองเดียวกันนี้ แต่สัตว์มันยังรู้หายเป็น รักกันชั่วประเดี๋ยวประด๋าว รักกันแต่ยังเล็กๆ เมื่อเติบโตแล้วก็ลืมกันหมด มนุษย์นี้รักกันไม่รู้จักหาย ถึงตายแล้วก็ยังรักกันอยู่อีก ตายแล้วมันคืนมาได้อย่างไร มนุษย์คนใดไม่รู้จักบุญคุณบิดามารดา แลไม่สนองตอบแทนบุญคุณของท่าน มนุษย์ผู้นั้นได้ชื่อว่าเลวร้ายกว่าสัตว์เดรัจฉานไปเสียอีก
เราบวชแต่ยังเล็ก มิได้หาเลี้ยงบิดามารดาเหมือนกับคนธรรมดา แต่หล่อเลี้ยงน้ำใจของท่านด้วยเพศสมณะ ตอนนี้เราคุยโม้อวดโตได้เลยว่า เราเกิดมาเป็นลูกผู้ชาย ได้บวชแต่เล็ก มิได้เลี้ยงบิดามารดาเหมือนคนธรรมดาสามัญทั่วไป แต่หล่อเลี้ยงน้ำใจของท่านทั้งสอง ด้วยทัศนะสมณเพศอันเป็นที่ชอบใจของท่านเป็นอย่างยิ่ง ระลึกอยู่ถึงเสมอว่า ลูกของเราได้บวชแล้วๆ ถึงอยู่ใกล้หรือไกลตั้งพันกิโลเมตร ก็มีความดีใจอยู่อย่างนั้นแล้วก็สมประสงค์อีกด้วย ตอนท่านทั้งสองแก่เฒ่าลง เราก็ได้กลับมาสอนท่านให้เพิ่มศรัทธาบารมีขึ้นอีก จนบวชเป็นชีปะขาวทั้งสองคน (แท้จริงท่านก็มีศรัทธาอยู่แล้ว เรามาสอนเพิ่มเติมเข้า กระทั่งมีศรัทธาแก่กล้า จนได้บวชเป็นชีปะขาว) และภาวนาเกิดความอัศจรรย์หลายอย่าง ทำให้ศรัทธามั่นคงขึ้นไปอีก
เราสอนไปในทางสุคติ ท่านทั้งสองก็ตั้งใจฟังโดยดี เหมือนอาจารย์กับศิษย์จริงๆ เต็มใจรับโอวาททุกอย่าง ท่านไม่ถือว่าลูกสอนพ่อแม่ บิดาบวชเป็นชีปะขาวได้ ๑๑ ปี ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๗๗ ปี มารดาบวชเป็นชีอยู่ได้ ๑๗ ปี จึงถึงแก่กรรม อายุได้ ๘๒ ปี มารดาเสียทีหลังบิดา
ตอนจะตายเราก็ได้แนะนำสั่งสอนจนสุดความสามารถ เราได้ชื่อว่าได้ใช้หนี้บุญคุณของบิดามารดาสำเร็จแล้ว หนี้อื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว ท่านทั้งสองล่วงลับไปแล้ว เราก็ได้ทำฌาปนกิจศพให้สมเกียรติท่าน และตามวิสัยของเราผู้เป็นสมณะอีกด้วย
ดีเหมือนกันที่เราบวชอยู่ในพุทธศาสนา และอยู่ได้นานมาถึงปานนี้ ได้เห็นความเปลี่ยนของสังขารร่างกาย พร้อมทั้งโลกภายนอกด้วย ได้เห็นอะไรหลายอย่างทั้งดีและชั่ว เพิ่มปัญญาความรู้ของเราขึ้นมาอีกแยะ นับว่าไม่เสียทีที่เกิดมาร่วมโลกกะเขา คิดว่าเราเป็นหนี้บุญคุณของโลก เราเอา ดิน น้ำ ไฟ ลม ของเขามาปั้นเป็นรูปเป็นกาย แล้วเราจึงได้มาครองอยู่มาบริโภคใช้สอยของที่มีอยู่ในโลกนี้ทั้งนั้น
ของเราแท้ๆ ไม่มีอะไรเลย ตายแล้วก็สละปล่อยทิ้งไว้ในโลกนี้ทั้งนั้น ของเราแท้ๆ ไม่มีอะไรเลย ตายแล้วก็สละปล่อยทิ้งไว้ในโลกทั้งนั้น บางคนไม่คิดถึงเรื่องเหล่านี้จึงหลงเข้าไปยึดถือเอาจนเหนียวแน่น ว่าอะไรๆ ก็ของกูๆ ไปหมด ผัวเมีย ลูกหลาน ข้าวของ เครื่องใช้ในบ้าน ของกูทั้งนั้น แม้ที่สุด ของเหล่านั้นที่มันหายสูญไปแล้ว หรือมันแตกสลายไป ก็ยังไปยึดว่าของกูอยู่ร่ำไป
๓๗.๒ กิจที่ไม่ควรกระทำ และกรรมที่ไม่ควรก่อสร้าง
กิจที่ไม่ควรกระทำ แต่เกิดขึ้นมาแล้วก็จำยอมทำ เพราะคนผู้เกิดมาได้อัตภาพอันนี้ อันได้นามชื่อว่า สังขาร จะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เป็นธรรมดา ไม่มีใครสักคนเดียวที่อยากให้เป็นเช่นนั้น จะแก่หง่อมเฒ่าชรา จนกระทั่งไปไหนไม่ได้แล้วก็ตาม ก็ยังไม่อยากตาย อยากอยู่เห็นหน้าลูกหลานต่อไป เมื่อตายลง คนที่อยู่ข้างหลังแม้แต่ลูกหลาน ก็ไม่ยอมเก็บศพไว้ที่บ้าน อย่างนานก็ไม่เกิน ๑๕ วัน โดยส่วนมากแล้วจะต้องเอาไปเผาทิ้งนั่นได้ชื่อว่า กิจไม่ควรทำ เพราะคนที่เราเคารพนับถือแท้ๆ แต่เอาไปเผาทิ้ง จึงเป็นสิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่ก็จำเป็นต้องกระทำ และไม่มีใครจะเอาผีไว้ในบ้านให้เฝ้าเรือน
กรรมที่ไม่ควรก่อสร้างนั้น เมื่อตายแล้ว จะเป็นใครก็ตาม เป็นบิดา มารดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง หรือญาติคนอื่นๆ เช่น ครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือ อย่างไรก็ตาม เมื่อตายแล้ว จะต้องมีการทำฌาปนกิจศพ การทำศพนี้จะต้องใช้คนและสิ่งของมาก ไม่เหมือนเมื่อเกิดนั้นมีสองคนตายายเท่านั้นก็สำเร็จได้ นี่จะต้องเลี้ยงแขก เลี้ยงคน เลี้ยงพระ เลี้ยงสงฆ์ หรือหาของมาถวายพระอีกด้วย นับว่าเป็นภาระแก่ผู้ยังอยู่ ที่มีฐานะค่อนข้างฝืดเคืองมิใช่น้อย เมื่อไม่มีก็ต้องไปยืมพี่ยืมน้องเป็นหนี้สินสืบไป การเป็นหนี้เช่นนี้ไม่มีรายได้อะไรเลย มีแต่จะขาดทุน เว้นแต่ผู้ใจบุญจริงๆ เอาบุญนี้มาเป็นกำไร แต่ถึงอย่างไรก็ได้ชื่อว่าเป็นของไม่ควรกระทำ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาเฉพาะหน้าของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็จำเป็นต้องทำ
๓๗.๓ การเกิด – การตาย
การเกิด การตาย สำหรับสัตว์โลก ถือไม่เหมือนกัน โดยการเกิดจะต้องลำดับในบิดามารดาเดียวกัน ใครเกิดก่อนก็เรียกว่าพี่ เกิดทีหลังก็เรียกว่าน้อง แต่การตายไม่อย่างนั้น ใครจะตายก่อนตายหลังก็แล้วแต่กรรม บุญกรรมของใครของมัน บางทีน้องตายก่อนพี่ก็มี หรือพี่ตายก่อนน้องก็มี ตายแล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปเกิดเป็นพี่น้องกันอีก ก็แล้วแต่บุญกรรมจะส่งให้ไปเกิดที่ใดเหมือนกัน บางคนทำชั่วอาจไปเกิดเป็นเปรตอสุรกาย หรือตกนรกหมกไหม้อยู่ในอเวจีก็มี บางคนทำดีจิตใจผ่องใสบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกองทุกข์ถึงพระนิพพานก็มี เอาแน่ไม่ได้
ดังโยมบิดามารดาของเราผู้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ท่านทั้งสองนั้น เราคิดว่าไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณของท่านอีกแล้ว ใช้หนี้กันหมดเสียที เพราะเราเป็นลูกผู้ชายคนสุดท้ายของท่าน ได้ทำกิจอันสมควรแก่สมณะให้แก่ท่านทั้งสองทุกอย่าง ไม่มีการบกพร่องแต่ประการใด ถึงแม้ท่านทั้งสองก็คงคิดเช่นนั้นเหมือนกัน คงไม่คิดจะทวงเอาหนี้สินจากเราอีกแล้ว เพราะสมเจตนาของท่านแล้วทุกประการ
อาจารย์คำดี พี่ชายคนหัวปีนั้น รักเรายิ่งกว่าลูกสุดสวาท น่าเสียดายมาถึงแก่กรรมเมื่อเราไม่อยู่ ไปจำพรรษาที่จังหวัดจันทบุรี ไม่ได้ทำศพสนองบุญคุณให้สมกับความรักของท่าน นอกจากนั้นพี่ๆ ทุกคนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ เราก็ได้อบรมสั่งสอนให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ตามสมควรแก่นิสัยวาสนาของตนๆ เมื่อตายก็ได้เป็นที่พึ่งทางใจอย่างดี ไม่เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วได้ปฏิบัติตามสติกำลังของตน
- นางอาน ปราบพล พี่สาวคนที่สอง ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ อายุได้ ๘๘ ปี
- นางแนน เชียงทอง พี่สาวคนที่สาม ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ อายุได้ ๙๐ ปี
- นายเปลี่ยน พี่ชายคนที่สี่ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ อายุได้ ๘๐ ปี
- นางนวล กล้าแข็ง พี่สาวคนที่ห้า ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ อายุได้ ๗๙ ปี
- พระเกต พี่ชายคนที่หก ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ อายุได้ ๔๘ ปี พรรษา ๑๔
- นางธูป ดีมั่น น้องสาวคนสุดท้อง ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๓ อายุได้ ๘๖ ปี
พี่น้องทั้งหมด เราได้ทำฌาปนกิจศพให้สมบูรณ์บริบูรณ์ทุกอย่าง สมเจตนารมณ์ของผู้ตายแล้วทุกประการ เฉพาะนางธูป น้องสาวคนสุดท้องนี้ ในช่วงบั้นปลายชีวิต เธอได้มาถือศีลบวชชี อยู่รับการอบรมกับเรา ที่วัดหินหมากเป้งหลายปี การปฏิบัติภาวนาของเธอคงจะได้ผล มีที่พึ่งทางใจอย่างดีโดยไม่เป็นที่น่าสงสัย เมื่อป่วยหนัก บุตรได้มารับตัวไปรักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร เล่าว่าเธอมีสติดี รู้สึกตัวตลอดเวลาจนวาระสุดท้าย บอกลูกหลานผู้พยาบาลได้ทุกระยะว่ารู้สึกอย่างไรว่า รู้สึกเริ่มเย็นมาแต่ปลายเท้า มาถึงหน้าแข้ง มาถึงเข่า มาถึงหน้าอก เธอเพ่งดูจิตที่หน้าอกอย่างมีสติ ลมหายใจแผ่วลง แผ่วลง และจนสงบไปในที่สุด
บัดนี้ยังเหลือแต่เราเป็นที่พึ่งของเราเท่านั้นแหละ ญาติพี่น้องและครูบาอาจารย์ไม่มีใครเป็นที่พึ่งแก่ตัวเองแล้ว เราจะพยายามทำความดีจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เพราะคนเราตายแล้ว ความดีและความชั่วไม่มีใครทำให้
อัตตโนประวัติแต่เริ่มมา จนอายุครบเก้าสิบสองปี ก็เห็นจะจบลงเพียงแค่นี้
[จบ อัตตโนประวัติ หน้า 09 จาก 09]