อัตตโนประวัติ 07

พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
[หน้า 07 จาก 09]

๒๓. พรรษา ๑๕ จำพรรษาที่บ้านโป่ง อำเภอแม่แตง (พ.ศ.๒๔๘๐)

บ้านโป่งเป็นสำนักที่ท่านอาจารย์มั่นเคยไปจำพรรษาแล้ว เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ก็เคยไปพักบ้านนี้ ญาติโยมนับว่าฉลาด เข้าใจธัมมะธัมโมได้พอสมควร ปีนี้เราจำพรรษาด้วยกัน ๕ รูป คือ อาจารย์บุญธรรม ๑ พระเขื่อง ๑ พระเมืองเลย ๑ (จำชื่อไม่ได้) พระอาจารย์ชอบ ๑ และเรา เราเป็นหัวหน้าได้เลือกสรรอุบายต่างๆ มาเทศน์อบรมหมู่เพื่อนเพื่อให้ได้หลักธรรมปฏิบัติแน่นแฟ้นมั่นคง เป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ต่อไป

ในหมู่นั้น ท่านอาจารย์ชอบ เป็นผู้เคร่งในธุดงค์กว่าเพื่อน เป็นการหาได้ยากกัลยาณมิตรเช่นในพรรษานี้ เราเทศน์อบรมเกือบแทบทุกคืน ขณะที่เราเทศน์อบรมอยู่นั้น หมู่เพื่อนก็ตั้งนมสิการทำความสงบรับฟังด้วยดี หลังจากเราอบรมแล้ว ได้เปิดโอกาสให้เพื่อนซักถามความข้องใจและออกความเห็นต่างๆ

ในหมู่นั้น นอกจากท่านอาจารย์ชอบแล้ว ก็มีพระเขื่องเป็นผู้เก่งในด้านปรจิตตวิชา ใครจะมีอารมณ์อะไรข้องอยู่ภายในจิต หรือไปทำความผิดอันใดก็ตามพระธรรมวินัยแล้ว ทั้งสองท่านนี้จะต้องตามไปรู้เห็นทั้งนั้น

ในหมู่นั้น ผู้ที่น่าสงสารกว่าเพื่อนคือ ท่านอาจารย์บุญธรรม (เป็นชาวสุรินทร์) มีพรรษามากแต่ยังภาวนาไม่เป็น ทั้งสองท่านนี้จะตามไปรู้เรื่องอะไรต่ออะไรของท่านหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็มิใช่เป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปเสียด้วย พอเพื่อนทักเข้าก็ยอมรับสารภาพโดยดี จนยอมลงกราบพระผู้อ่อนพรรษากว่าเสียด้วย ท่านทั้งน้อยใจและอับอายหมู่เพื่อนมาก แล้วก็ไม่เคยพบท่านอาจารย์มั่นเลย แต่เคยเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์สิงห์ อยากฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่นมาก โดยท่านสำคัญตัวว่าท่านมีความรู้พอ หากได้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่นแล้วจะรู้เห็นธรรมโดยพลัน เราเคยเตือนท่านเสมอว่า ให้ระวังเมื่อเห็นและฟังเทศน์ของท่านแล้วจะเกิดความประมาทท่าน

ออกพรรษาแล้ว ท่านอาจารย์มั่นได้ย้อนกลับมาหาพวกเราอีก ท่านอาจารย์บุญธรรมได้ฟังธรรมเทศนาของท่านอาจารย์มั่นเท่านั้นแหละ กลับตาลปัตรตรงกันข้ามเลย คือไม่พอใจในอุบายของท่านอย่างน่าเสียดาย ภายหลังท่านน้อยใจอย่างไรก็ไม่ทราบ ได้หนีจากหมู่ไปเที่ยววิเวกรูปเดียว แต่โชคไม่อำนวยไปเป็นไข้ป่ามาลาเรียขึ้นสมอง ท่านอาจารย์เหรียญไปเจอเข้าจึงได้หอบกันมา เลยมามรณภาพที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ โดยญาติและลูกศิษย์ไม่มีใครได้ไปปฏิบัติรับใช้

ส่วนเราและพระเขื่องเมื่ออยู่อบรมกับท่านอาจารย์มั่นพอสมควรแก่เวลาแล้ว ได้ขอลาท่านออกไปวิเวกตามลำแม่น้ำแตงขึ้นไป ได้ไปพักวิเวกอยู่ใกล้ป่าเมี่ยงเขาแห่งหนึ่ง พอไปถึงเราได้ให้พระเขื่องอยู่เฝ้าเครื่องบริขารที่วัดร้างเชิงเขา ส่วนเราได้ขึ้นไปหาที่พักบนเขา มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาเที่ยวเย้าหยอกกับผู้ชายหนุ่มๆ ที่อยู่ในนั้น พระเขื่องเห็นเข้าเกิดความกำหนัดอย่างร้ายแรง เรากลับลงมาจากที่พัก เห็นอาการอย่างนั้น เราได้พยายามอบรมและให้อุบายต่างๆ นานา อันจะเป็นทางระงับอารมณ์นั้นแต่ก็ไม่ได้ผล เรื่องนี้เราเข้าใจดีแล้วตั้งแต่เมื่อเธอจะมาอยู่ด้วยเราทีแรก เธอเล่านิมิตก่อนแต่เธอจะมาหาเรา ขณะที่เธออยู่อำเภอแม่สรวยกับท่านอาจารย์มั่นว่า เธอได้ทราบข่าวเราแล้วทำให้เกิดศรัทธามาก อยากจะมาหาเรา เธอได้นิมิตว่า ปรากฏเป็นถนนจากที่อยู่ของเธอตรงแน่วพุ่งมาหาเรา เธอได้เดินตามถนนมาถึงที่อยู่ของเราโดยราบรื่น หัวถนนจดเชิงบันกุฏิเราพอดี แล้วเธอเกาะบันไดขึ้นไปหาเราสูงมาก พอถึงได้กราบเราแล้ว เราได้มอบผ้าให้เธอหนึ่งไตร แต่เธอไม่ยอมรับ พอดีเหตุการณ์ได้มาตรงกับนิมิตของเธอพอดี เราเองก็หมดเยื่อใยในตัวเธอลงเพียงเท่านั้น

ตอนเช้าเมื่อฉันเช้าอยู่ เธอแสดงความโกรธให้เราด้วยเหตุเล็กน้อย พอตอนเย็นจึงเข้าไปหาเรา แล้วได้แสดงโทษต่อเราและบอกว่าเย็นวานนี้มีผู้หญิงมาพูดเย้าหยอกกับผู้ชายหนุ่มให้เห็น แล้วจึงเกิดความกำหนัดจากนั้นภาวนาไม่ลงตลอดคืนเลย แล้วขอลาแยกทางเราเที่ยวไปตามลำพัง หลังจากนั้นมาราวสามเดือนได้เจอเธออีก เราได้ชักชวนให้เธอเริ่มต้นทำภาวนากันใหม่อีก หากตั้งใจทำกันจริงจังก็คงไม่เหลือวิสัยนา ขอเริ่มทำกันใหม่อีกทีเถอะ แต่เธอก็ไม่ยอม ภายหลังทราบว่าเธอได้ลาสิกขาออกจากสมณเพศไปแล้วอย่างน่าเสียดาย เธอเป็นคนใจเด็ด ทำอะไรทำจริง มีทิฐิจัด แม้แต่ท่านอาจารย์มั่นเทศน์ก็ไม่ยอมลงด้วย เคยเป็นนักเลงโตมาแล้ว พอบวชก็หนีจากบ้านไปโดยไม่มีจุดหมายปลายทาง บ้านเดิมเธออยู่บ้านน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม

อภิญญา ๖ เช่น ปรจิตตวิชา รู้จักวาระจิตของผู้อื่นนี้ เป็นต้น เป็นของอสาธารณ์ หาได้เกิดมีแก่ผู้ปฏิบัติทั่วไปไม่ บางท่านปฏิบัติเอาจนจิตละเอียดบริสุทธิ์สักเท่าไรๆ อภิญญาไม่เกิดเลยสักอย่างก็มี บางท่านปฏิบัติพอจิตรวมเป็นขณิกะ อุปจาระนิดหน่อยก็เกิดแล้ว สำหรับพระเขื่องคนที่ว่านี้ เธออบรมจิตให้สงบได้ดีมาก จะทำให้จิตสงบตลอดวันยังค่ำคืนยังรุ่งก็ทำได้ เธอเดินไปตามธรรมดามันปรากฏในใจของเธอเหมือนกับเดินอยู่บนอากาศ หรือมิฉะนั้นก็เหมือนกับอยู่ใต้บาดาลโน่น เพราะจิตของเธอไม่ถอนออกจากสมาธิ แต่ไม่มีปัญญาพิจารณาพระไตรลักษณ์ เรียกว่า โลกิยอภิญญา เกิดจากโลกิยฌาน นับประสาอะไรแต่พระเขื่อง พระเทวทัตขนาดเหาะเข้าช่องพระแกลไปปรึกษากิจการกับเจ้าชายอชาตศัตรูได้ก็ยังเสื่อม

๒๔. พรรษา ๑๖ จำพรรษาที่บ้านหนองดู่ อำเภอปากบ่อง (อำเภอป่าซางในปัจจุบัน) จังหวัดลำพูน (พ.ศ.๒๔๘๑)

บ้านหนองดู่เป็นบ้านชาวมอญ พระที่วัดดูเหมือนจะเคร่งครัดในวินัยพอควร แต่สมภารตามที่ชาวบ้านว่าท่านขลังพอดูเหมือนกัน ชาวบ้านจะไปในงานใด ท่านเสกน้ำมันงาให้เขากิน ให้ทาแล้วแทงไม่เข้า ตีไม่แตก คนแถบนั้นเมื่อเห็นชาวหนองดู่ไปในงานไหนแล้ว ต่างก็จะพากันจ้องจับตาดูกันเป็นแถว ส่วนชาวบ้านได้อาจารย์ดีแล้วก็กำเริบไม่กลัวใครทั้งนั้น เคยมีบ้านแถบนั้นเขารวมหัวกันมีอาวุธครบมือยกขบวนมาล้อมบ้าน จะแก้แค้นเอาให้ตายหมดทั้งบ้าน ผู้ชายรู้ตัวพากันวิ่งเข้าไปในป่าหัวซุกหัวซุนต่างเอาตัวรอด

สมภารอาจารย์ดีองค์นี้แหละอายุได้ ๘๐ ปีแล้ว ถูกพระกัมมัฏฐานเที่ยวธุดงค์มาขอพักอาศัยได้อบรมเอาเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ เลยเกิดความเลื่อมใส ยอมสละมานะทิฐิ ขอเป็นลูกศิษย์ท่าน ภายหลังพร้อมกันทั้งวัดโดยการสนับสนุนของชาวบ้านด้วย ได้เปลี่ยนแปลงเป็นคณะธรรมยุต

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) เมื่อครั้งเป็นพระญาณดิลกไปรักษาการที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ได้ขอร้องให้เราไปเป็นสมภารวัดหนองดู่เป็นองค์แรก มีพระปลัดทองสุกเป็นรองสมภาร ในพรรษานี้พระมหาขันธ์หัดเทศน์เป็นปฐมฤกษ์ เป็นครูสอนปริยัติธรรมด้วย ในพรรษานี้เราได้อบรมประชาชนให้เกิดศรัทธาปสาทะ เข้ามารักษาศีลอุโบสถมากเป็นประวัติการณ์ บางบ้านปิดประตูบ้านแล้ว พากันมานอนรักษาศีลอุโบสถที่วัดหมดครอบครัวเลยก็มี ประเพณีคนมอญเด็กสาวๆ จะไม่มีการรักษาศีลอุโบสถเลย ซึ่งตรงกันข้ามกับชายหนุ่ม ชายหนุ่มสึกจากพระแล้วจะเข้าวัดรักษาอุโบสถไม่ขาดเลย น่าชมเชยเขา คนบ้านนี้ถึงแม้อาชีพเขาจะไม่ค่อยคล่องแต่เขาก็ศรัทธาดีมาก นอกจากนี้เรายังได้สอนให้เขามั่นอยู่ในพระไตรสรณาคมน์ ละมิจฉาทิฐิถือผีเสีย ได้มีผู้เห็นดีเห็นชอบด้วยพากันยอมแล้ว

เราจำเป็นจะต้องเดินทางกลับภาคอีสานเสีย จึงเป็นอันยุติไว้เพียงเท่านั้น สละผีมอญมาขอรับเอาพระไตรสรณาคมน์เป็นสรณะแทนเป็นจำนวนมาก แต่ออกพรรษา ความเป็นเศรษฐีมีจนคนอนาถา ก็มิได้เป็นอุปสรรคแก่การจับจ่ายอริยทรัพย์ของผู้มีศรัทธาปัญญา ฉะนั้นอริยทรัพย์จึงเป็นของมีคุณค่าเหนือกว่าทรัพย์ทั้งปวง

๒๕. พรรษา ๑๗ – ๒๕ จำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย (พ.ศ.๒๔๘๒ – ๙๐)

ก่อนจะกลับ เราได้ไปกราบนมัสการลาท่านอาจารย์มั่น ซึ่งได้จำพรรษาอยู่ ณ ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ตามคำขอร้องของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เช่นเดียวกัน แล้วเราได้อาราธนาให้ท่านกลับภาคอีสานอีกวาระหนึ่ง คือก่อนเข้าพรรษาเราได้อาราธนาท่านครั้งหนึ่งแล้ว ท่านก็ปรารภว่า เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ก็มีหนังสือมานิมนต์เหมือนกัน แท้จริงเราได้เคยทาบทามท่านเห็นมีทีท่าท่านจะกลับ เราจึงได้มีหนังสือแนะให้เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์มีหนังสือมานิมนต์ท่าน เมื่อเราย้ำว่า แล้วท่านอาจารย์จะกลับไหม ท่านบอกว่า ดูกาลก่อน แล้วกราบเรียนท่านว่า ผมขอลากลับละ เพราะมาหาวิเวกทางนี้ก็เป็นเวลานานพอสมควร จะดีชั่วขนาดไหนก็พอจะพิสูจน์ตัวเองได้แล้ว

แล้วเราก็ได้มีจดหมายเรียนท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์อีกฉบับหนึ่ง การเดินทางกลับครั้งนี้เขาให้เด็กคนหนึ่งมาเป็นเพื่อน ส่วนท่านอ่อนสียังอยู่ติดตามท่านอาจารย์มั่นต่อไป เมื่อกลับมาถึงท่าบ่อ จังหวัดหนองคายแล้ว เราตั้งใจจะอบรมหมู่เพื่อนให้เคร่งในด้านปฏิบัติ แต่ก็ทำมาได้ราว ๓ – ๔ ปี ได้ผลราว ๒๐ – ๓๐% ควบคู่กันไป พร้อมกันนี้เราได้นำหมู่ไหว้พระสวดมนต์ประจำ หลังจากไหว้พระสวดมนต์แล้ว ได้ซ้อมสวดมนต์ทั้งมคธสังโยคและร้อยแก้ว ทั้งปาฏิโมกข์ก็สวดต่อท้ายสวดมนต์ประจำ เราผลิตนักสวดได้มากทีเดียว เราเห็นคุณประโยชน์ประจักษ์แล้วจึงได้ทำเช่นนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้

อนึ่งขณะเราได้กลับมาอยู่วัดอรัญญวาสีได้ ๒ พรรษา คือระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๔ – ๒๔๘๕ เราได้พาลูกหลานญาติโยมไปสร้างสำนักขึ้นที่ตะวันตก บ้านกลางใหญ่ ยังเป็นสำนักถาวรมีพระเณรอยู่จำพรรษาตลอดมาทุกปีมิได้ขาดจนกระทั่งทุกวันนี้ ปัจจุบันมีชื่อว่า วัดนิโรธรังสี

ในระยะนี้ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์กำลังสนใจในกัมมัฏฐาน และในตัวของท่านอาจารย์มั่นมาก แท้จริงเจ้าคุณธรรมเจดีย์เมื่อเป็นสามเณรก่อนจะไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ก็เคยเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์เสาร์ ท่านอาจารย์มั่นมาก่อนแล้ว แต่ไม่ได้สนใจในธรรมปฏิบัติ หลังจากนั้นมา ก็เห็นจะเป็นครั้งผูกพัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์นั้นกระมัง ที่ท่านได้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับท่านอาจารย์ทั้งสอง มาตอนนี้ท่านสนใจมาก ถึงกับถามปฏิปทาและนิสัยใจคอของท่านอาจารย์ทั้งสองกับเราเสมอ บางครั้งยังให้เราแสดงธรรมที่ได้ยินได้ฟังมาจากท่านทั้งสองให้ฟังอีกด้วย เมื่อเรานำเอาธรรมของท่านอาจารย์มาแสดง รู้สึกว่าท่านตั้งใจฟังโดยความเคารพสงบนิ่งอย่างน่านับถือมาก

ภายหลังท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ได้ให้อาจารย์อุ่น ธัมมธโร ไปนิมนต์ท่านอาจารย์มั่นที่เชียงใหม่ แต่ก็ไม่เป็นผล ไปเล่าเรื่องฉันเจ (มังสวิรัติ) ให้ท่านฟังจนเป็นเหตุให้หมู่คณะทะเลาะแตกแยกกัน ท่านอาจารย์มั่นบอกว่า พระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ทะเลาะกันเพราะเรื่องกินเรื่องขี้ดอก อะไรพวกเราจะมาทะเลาะกันเพราะเรื่องพรรค์นี้

เมื่อเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ฯ ลงไปกรุงเทพ ฯ ด้วยกิจคณะสงฆ์ พอเสร็จแล้วท่านจึงเลยไปเชียงใหม่แล้วนิมนต์ด้วยตนเอง ท่านอาจารย์มั่นบอกว่า เออ! อย่างนี้ซิ นิมนต์ด้วยหนังสือใหญ่ (คือนิมนต์ด้วยตนเอง)

เรามีโอกาสได้จำพรรษาที่วัดอรัญญวาสีท่าบ่อ เป็นเวลานานครั้งแรกถึง ๙ ปี เป็นประวัติการณ์ในชีวิตของการบวชมา เมื่อก่อนเราไม่สนใจในการก่อสร้างเพราะถือว่าเป็นเรื่องยุ่ง และไม่ใช่กิจของสมณะ ผู้บวชจำต้องประพฤติเฉพาะสมณกิจเท่านั้น เมื่อเราได้มาอยู่ ณ ที่วัดนี้แล้ว มองดูเสนาสนะที่อยู่อาศัย ล้วนแล้วแต่เป็นมรดกของครูบาอาจารย์ได้ทำไว้ให้เราอยู่ทั้งนั้น แล้วมาคิดค้นถึงพระวินัยบางข้อ ท่านอนุญาตให้บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะได้ แล้วเกิดความละอายแก่ใจว่า เรามานอนกินของเก่าเฝ้าสมบัติเดิมของครูบาอาจารย์แท้ๆ

ต่อจากนั้นจึงได้เริ่มพาญาติโยมทำการก่อสร้างมาจนกระทั่งบัดนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ตามไม่ว่า ณ ที่ใดๆ เราไม่เคยทำการเรี่ยไรมาก่อสร้างเลย ละอายแก่ใจมาก มีก็ทำ ไม่มีก็ไม่ทำ แล้วก็ไม่ยอมติดในงาน ถึงงานไม่เสร็จ เมื่อทุนไม่มีเราทิ้งได้โดยไม่มีเยื่อใยเลย เรามาอยู่ ณ ที่นี่ได้พาญาติโยมทำการก่อสร้างกุฏิใหม่สองหลัง และศาลาการเปรียญหนึ่งหลัง แล้วก็หลังเล็กๆ อีกหลายหลัง จำเดิมแต่เราออกเที่ยวรุกขมูลมาไม่เคยจำพรรษาที่เก่าถึง ๓ ปีสักทีเพิ่งมาอยู่นานที่ท่าบ่อนี่เอง จะเป็นเพราะเราอยู่นานหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ภายหลังโรคเส้นประสาทของเรากำเริบ แต่เราก็กัดฟันอดทนอยู่มาเพื่อหวังประโยชน์แก่หมู่คณะซึ่งต้องการอยากจะศึกษาในธรรมปฏิบัติ

เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ ท่านเกต (พี่ชาย) ได้มาอยู่จำพรรษาด้วย แล้วท่านได้มามรณภาพเสียในกลางพรรษานั้นเองด้วยโรคไส้ติ่ง แต่อุปสมบทมาท่านมีพรรษาได้ ๑๔ พรรษา อายุ ๔๘ ปี ท่านเกต (พี่ชายคนติดกัน) นับแต่บวชมาไม่เคยจำพรรษาด้วยกันสักที ปีนี้ได้มาอยู่ด้วยกัน ดูเหมือนจะเทพนิมิตสังหรณ์อะไรไม่ทราบ พอมาอยู่ด้วยเราก็ไม่ได้เทศนาสั่งสอนญาติโยมอะไร ให้อยู่ภาวนาทำความเพียรสบายๆ

ในพรรษานี้ เราเป็นโรคประสาทอย่างร้ายแรง ขนาดเทศนาอบรมญาติโยมอยู่บนธรรมาสน์ ไม่รู้ตัวเลยว่าเราพูดอะไรต่ออะไร แต่ก็พูดได้ เมื่อพูดจบแล้วถามญาติโยมผู้ฟังว่า เราพูดอะไร ได้ความไหม เขาก็ตอบว่า ได้ความดีอย่างเดิมไม่ผิดแปลกอะไร วันหนึ่งเราได้นิมิตฝันว่า เรากับท่านเกต (พี่ชาย) ได้เดินรุกขมูลไปในป่าด้วยกัน ไปถึงลำธารแห่งหนึ่งได้พากันเดินตามลำธารนั้นไป น้ำไม่ลึกเพียงสะเอว แต่เดินไปก็ไม่ปรากฏผ้าเปียก เราเห็นน้ำใสจืดสนิทดีอยากวักมาบ้วนปากดู จึงเอามือวักใส่ปากอมแล้วก็พ่นทิ้ง โอ้โฮ ที่ไหนได้ฟันในปากของเราหลุดออกมากับน้ำ ตื่นขึ้นมานึกว่าเป็นจริง พอคลำดูในปากจึงรู้ว่าเป็นความฝัน เราไม่ค่อยเชื่อความฝันว่ามันเป็นจริงเป็นจัง ฝันเพราะเรารักษาจิตไม่ได้มันกวัดแกว่งหลับไป มันจึงฝันไปตามอารมณ์ของมัน ถ้าเรารักษาสติให้ดีแล้วจะไม่มีฝันเลย ถึงแม้ฝันก็รู้ตัวว่าเราฝันอยู่ แต่ลุกไม่ได้เพราะกายยังไม่เคลื่อนไหวเมื่อกายเคลื่อนไหวแล้วจึงลุกขึ้นได้ จิตไม่มีหลับ ที่ฝันคือจิตมันไม่หลับ มันส่งส่ายนั่นเอง

เมื่อเราไม่เชื่อในความฝัน คราวนี้นิมิตมาปรากฏให้เห็นด้วยตาใน (คือใจ) ก่อนถึงเดือนสิบเพ็ญซึ่งเขานิยมทำบุญกันตามประเพณี เรียกว่าบุญข้าวสลากภัต เราได้ป่วยล่วงหน้ามาก่อน ๔ – ๕ วันแล้ว ดังกล่าวมาข้างต้น คราวนี้เป็นหนักมากลุกไม่ได้ ลุกขึ้นก็อาเจียน นอนหลับตาอยู่พอลืมตามองเห็นท้องฟ้า มีเมฆเคลื่อนผ่านพระอาทิตย์ ก็เจ็บนัยน์ตาทำให้อาเจียน

วันนั้นพอดีเป็นวันพระเราลงเทศน์ไม่ได้ เขาจึงนิมนต์ให้ท่านเกตลงเทศน์ ท่านเทศน์อยู่ชั่วโมงครึ่งจึงจบ ญาติโยมได้ยินแล้วพากันแปลกใจมาก ไม่นึกว่าท่านจะเทศน์ได้ถึงขนาดนั้น พอดีรุ่งเช้าขึ้นเราก็หายจากโรคประสาท แล้ววันนั้นเขานิมนต์เราไปประชุมในราว ๑๑ โมงเช้ามีคนไปบอกว่าท่านเกตปวดท้องเราจึงกลับมา เมื่อมาแล้วก็มองดูอยู่เฉยๆ ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร เพราะไม่มียา

อนึ่งโรคนี้ท่านเคยเป็นมาสิบกว่าปีแล้ว บางทีฉันยาตามมีตามได้ก็หาย บางทีไม่มียาฉันมันก็หายเอง มีครั้งหนึ่งไปป่วยอยู่บ้านนาสีดา (บ้านเดิม) ๕ วัน ๕ คืน นอนไม่ได้ฉันไม่ได้ เวลาจะหายเอานิ้วมือล้วงเข้าที่ทวารหนัก มีอะไรไม่ทราบออกมาเป็นก้อนเล็กๆ สามสี่ก้อนจากนั้นก็หายเลย

ในสมัยนั้นการแพทย์แผนปัจจุบันยังเจริญไม่ทั่วถึง ปวดท้องก็หายาแก้ปวดท้องมากิน ไม่ทราบว่าไส้ติ่งเป็นอย่างไร ถ้าปวดท้องเพราอาหารเป็นพิษหรือของแสลงหรือท้องมีลมก็หายไป ถ้าเป็นไส้ติ่งอย่างนี้ก็ไม่หาย คนตายเพราะไส้ติ่งนี้นับไม่ถ้วน ท่านเกตปวดท้องครั้งนี้เป็นเรื่องไส้ติ่งโดยแท้และไม่มียา เจ็บเอาเหลือจะทนดิ้นคลั่กๆ แต่ไม่เคยได้ยินเสียงร้อง ในที่สุดพูดหลุดปากออกมาประโยคหนึ่งว่า อดทนไม่ไหวแน่ คิดว่าเดินจงกรมมันจะสบายบ้าง ให้พยุงขึ้นเดินจงกรม เดินไปได้ประมาณ ๔ – ๕ ก้าวเลยอ่อนพับลง พระเณรที่เอาไปเดินเห็นอาการดังนั้นจึงเอามานอนลงที่เดิม เวลานั้นเราอ่อนเพลียมากเพราะดูกันเป็นเวลานานแล้ว จึงขออนุญาตจากเพื่อนไปพักผ่อน พอดีมีเณรไปเรียกว่า ท่านเกตอ่อนเพลียมากสลบลง เราจึงรีบมาดู เห็นนอนนิ่งเฉยๆ ไม่พูดอะไร เราเตือนสติอยู่ใกล้ๆ บอกว่าได้ยินไหม พูดว่าได้ยิน จนเวลาราว ๒ ทุ่มจึงมรณภาพไป

ท่านเกตเป็นคนอดทนอย่างยิ่ง ทั้งที่ยามปกติและยามโรคกำเริบ โรคมิใช่อย่างเดียว โรคไส้ติ่ง โรคนิ่ว และโรคมาลาเรีย โดยเฉพาะโรคไส้ติ่งนี้ เวลามันอักเสบเป็นตั้งหลายๆ วันจึงจะหายแต่ไม่เคยทำความเดือดร้อนให้ใครเลย เวลาเป็นมาก็นอนนิ่งอยู่คนเดียว อาหารฉันได้ก็ฉัน ฉันไม่ได้นอนนิ่งอยู่อย่างนั้น ปกติท่านก็ฉันน้อยอยู่แล้ว ฉันง่ายด้วย ฉันข้าวกับเกลือก็อยู่ได้ตั้งเป็น ๑๐ วันกว่าๆ ได้รับความยกย่องจากครูบาอาจารย์ทุกองค์ว่ามีความอดทนดีมาก เราทำฌาปณกิจศพท่านแล้วออกพรรษาเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ โยมมารดาก็มาเสียไปอีกคนหนึ่ง ในปีนั้นเขาเป็นโรคแผลเปื่อยกันทั้งบ้านทั้งเมือง โยมเราก็เป็นที่แข้งกับเขาบ้าง เขาเป็นพากันรักษาหายหมด โยมเราเป็นรักษาไม่หาย ยาอะไรดีๆ เขารักษาหายเราก็ไปเอามารักษา ก็ไม่หาย เปื่อยจนกระทั่งเนื้อหนังหลุดออกยังเหลือแต่กระดูกแต่ไม่รู้สึกเจ็บ

เราอยู่จำพรรษาที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย โยมแม่ของเราป่วยอยู่ที่บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ โรคที่ไม่เชื่อความฝันว่าจะเป็นจริงก็พลอยหายไปโดยฉับพลัน ในเมื่อฝันว่าฟันหลุดออกจากปาก พอรุ่งเช้ามาเราพยากรณ์ได้เลยว่าวันนี้เราจะต้องออกเดินทางแน่นอน กลับจากบิณฑบาตเห็นคนมารอท่าอยู่แล้ว บอกว่าโยมมารดาป่วยหนัก ใครจะหาว่าความฝันเป็นเรื่องเหลวไหลไม่เชื่อก็ตามใจ แต่เราเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ถ้าฝันว่าฟันหลุดออกจากปาก ไม่บิดาก็มารดาหรือพี่น้องคนใดคนหนึ่งจะต้องเจ็บหนักหรือถึงแก่ความตายแน่ ถ้ามิฉะนั้นก็คนใกล้ชิดสนิทคุ้นเคยกับเรา

เราได้พยาบาลโยมมารดาด้วยธรรมโอสถและยาภายนอกจนสุดกำลัง แต่สังขารมันแก่หง่อมเต็มที ได้ ๘๒ ปีแล้ว เอายาอะไรมาใส่รักษามันก็ไม่ทุเลา กินไม่ได้ มีแต่ทรุดลงๆ จนทนไม่ไหวร่วงโรยไปเหมือนใบไม้แก่ฉะนั้น แต่ด้านจิตใจ เราได้พยาบาลรักษาให้อยู่ในความสงบอย่างยิ่ง จนวาระสุดท้ายเกือบจะไม่มีลมแล้ว เราจึงหยุดให้สติ

เราได้ทำหน้าที่อุตมบุตรอย่างยิ่ง ในขณะที่ปกติอยู่ท่านถือเราเสมออาจารย์คนหนึ่ง ขัดข้องต้องการสิ่งใดปรึกษาหารือเรา เมื่อเราออกความเห็นให้ก็ยอมรับทั้งนั้น ยามป่วยไข้เราได้ให้สติ บางทีถึงกับไม่ต้องรับประทานยาเลย ก็หายด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในคำสอนของเรา ตอนจะถึงแก่กรรมก็เหมือนกัน อาจเป็นเพราะความเชื่อมั่นในคำสอนของเราก็ได้ทำให้ไม่เจ็บแผลที่ขา

๒๖. พรรษา ๒๖ – ๒๗ จำพรรษาที่เขาน้อย ท่าแฉลบ จังหวัดจันทบุรี (พ.ศ.๒๔๙๑ – ๒๔๙๒)

ภูเขาลูกนี้ก่อนที่เราจะไปอยู่ เราได้ภาพนิมิตแล้วตั้งแต่อยู่วัดอรัญญวาสี อำเภอท่าบ่อ แต่เราก็ไม่ยักเชื่อว่ามันจะมีเช่นนั้น อนึ่งภูเขาลูกนี้มันไม่น่าจะวิเวกเลย เพราะเป็นภูเขาเล็กๆ อยู่กลางทุ่งมีหมู่บ้านอยู่รอบเชิงเขา แต่เป็นที่แปลกใจมากๆ ไม่ว่าใครจะเป็นพระเป็นเณรหรือแม้แต่คฤหัสถ์ชาวบ้าน เมื่อมาอบรมภาวนา ณ ที่นั้นแล้วจะได้รับผลเป็นที่น่าอัศจรรย์ทุกๆ คนไปไม่มากก็น้อยตามกำลังของตนๆ

ที่น่าแปลกที่สุดก็คือ มีตาแก่คนหนึ่งอายุ ๗๐ กว่าปีแล้ว อาศัยเขาอยู่ แกเป็นนักดื่มเมาเป๋ตลอดวัน เขาจ้างให้แกไปอุปัฏฐากพระประจำ ให้เดือนละ ๕๐ บาท แกไม่ยอม พอเราไปอยู่แกเกิดศรัทธาเลื่อมใสไม่ต้องจ้าง แกมาภาวนากัมมัฏฐานเกิดภาพนิมิตให้เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ ละสุราเข้ามารักษาอุโบสถได้ ชาวบ้านใครๆ ก็นิยมนับถือแก เข้าบ้านใคร ร้านไหน เขาให้อาหารแกกินฟรีๆ ไม่ต้องซื้อ แกยิ่งเห็นอานิสงส์มากขึ้นและปฏิบัติพระตลอดมา

ที่แปลกยิ่งกว่านั้นคือ คนใบ้ที่ท่าแฉลบนั้นเองนี่ก็อาศัยอยู่กับเขาเหมือนกัน เราได้สอนภาษาใบ้ให้เขารักษาอุโบสถและภาวนาจนเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจของเขา แล้วเขาได้สอนคนอื่นด้วยภาษาใบ้ให้เห็นโทษของการดื่มสุรา เขาภาวนาอยู่ที่บ้านยังสว่างเห็นตัวของเราที่อยู่วัดเลย เวลานี้คนคนนี้ได้ข่าวว่ายังมีชีวิตอยู่ แล้วก็ได้สร้างวัดเฉพาะส่วนตัวอยู่ ได้นิมนต์พระไปอยู่และปฏิบัติด้วยตนเองด้วย

ส่วนตัวของเราเองก็รู้สึกแปลกมาก คือค้นธรรมที่ไม่เคยคิดและรู้ธรรมที่ยังไม่เคยรู้ ลำดับอุบายและแนวปฏิบัติได้ละเอียดถี่ถ้วน จนวางแนวปฏิบัติได้อย่างเชื่อตนเอง จึงได้เขียนหนังสือส่องทางสมถะวิปัสสนาเป็นเล่มแรก

เราอยู่บำเพ็ญเพียร ณ ที่นั้นสองพรรษาตามที่เราได้กำหนดเอาไว้พอดี พรรษาสองออกพรรษาแล้วได้ข่าวการอาพาธของท่านอาจารย์มั่น เราจึงจากเขาน้อยไปด้วยการระลึกถึงคุณของเขาลูกนี้อย่างยิ่ง เราได้ไปเยี่ยมอาการไข้ของท่านอาจารย์มั่นจนท่านมรณภาพ แล้วทำฌาปนกิจศพของท่านเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราไม่ได้กลับไปอีก ทั้งๆ ที่มีผู้ปวารณาจะให้อุปการะแก่เราอย่างดียิ่งถ้ากลับไปอีก เป็นแต่ได้ส่งพระไปรอท่าด้วยความไม่แน่นอนของเรา

๒๖.๑ ความวิตกของผู้คิดมาก

หลังจากฌาปนกิจศพของท่านอาจารย์มั่นแล้ว เรามารำพึงถึงหมู่คณะว่า เมื่อก่อนเรามีหมู่คณะยังไม่มาก และยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนกว้างขวาง อนึ่งพระผู้ใหญ่ที่เป็นร่มเงา เช่น เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ก็ยังมีเป็นที่พึ่งอาศัยอยู่ หากมีเรื่องเกี่ยวข้องทางคณะสงฆ์ท่านก็รับเอาเป็นภาระเสีย เมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) ก็รับภาระแทน เมื่อท่านนั้นมรณภาพไปแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ก็เป็นที่รู้จักและเคารพนับถือของพระผู้ใหญ่เป็นอันมาก เวลานี้ท่านอาจารย์มั่นก็มามรณภาพไปเสียแล้ว คงยังเหลือแต่พวกเรา

ในคณะของพวกเรานี้ก็ไม่กี่องค์ที่พระผู้ใหญ่รู้จัก และจะรับเอาภาระของหมู่คณะอย่างจริงจัง ต่อไปนี้พระคณะลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่นก็นับวันแต่จะเป็นที่รู้จักของคนเป็นอันมาก (แต่เรามันโง่ไป หารู้ไม่ว่าท่านที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่ ณ บัดนี้ ต่อไปท่านก็จะเป็นพระผู้ใหญ่ และมีความสามารถด้วยกันทั้งนั้น ความวิตกนี้มันอาจจะเลอะเลือนไปก็ได้) อย่าเลยถ้ากระนั้นเราจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ หากมีโอกาสจะได้สังสรรค์กับพระผู้ใหญ่ เพื่อฟังมติและอุบายของท่านเหล่านั้นว่า ท่านจะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างในหมู่คณะของพวกเรา

เราได้ออกเดินมาพักที่วัดบ้านจิก อุดรฯ เมื่อเราได้มาพักรวมกันกับอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พักวัดทิพยรัตน์ที่อุดรฯ ท่านอาจารย์อ่อนเข้าใจว่า เราหนีหมู่คณะเอาตัวรอด เราชี้แจงข้อเท็จจริงให้ท่านฟังทุกประการ ท่านจึงเข้าใจความหมายของเรา อนึ่งในพรรษานี้ได้ทราบว่าท่านอ่อนเองก็ได้ไปจำพรรษาที่ถ้ำเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรีเหมือนกัน ไม่ทราบว่าท่านจะเข้าใจในคำพูดของเราอย่างไรก็ไม่ทราบ

เมื่อเราเข้าไปกรุงเทพฯ แล้วก็ได้มีโอกาสเข้าไปกราบนมัสการพระเถระหลายรูป แล้วก็ได้รู้และเข้าใจในทัศนะของท่านแต่ละรูปที่มีต่อคณะของพวกเราพอสมควร อันเป็นเหตุให้เรามั่นใจในตัวของตนเองและหมู่คณะเป็นอย่างดี แต่เรายังต้องการอยากจะชมปฏิปทาและแนวปฏิบัติของสำนักที่มีชื่อเสียงต่างๆ เช่น ที่ราชบุรีและเพชรบุรี เป็นต้น เราจึงได้ออกเดินทางไปขอพักเพื่อศึกษาในสำนักนั้นๆ จนกระทั่งถึงจังหวัดสงขลา

ขณะนั้นพระขุนศิริเตโชดม (อำพัน) ซึ่งเคยเป็นอดีตนายอำเภอ แล้วก็เคยอยู่ด้วยเรามาแล้ว เธอไปเผยแพร่พระธรรมปฏิบัติทางภูเก็ต พังงา ภายหลังมีพระมหาปิ่น ชลิโต (พระครูวิโรจน์ธรรมาจารย์) เป็นชาวนครปฐมซึ่งไม่ใช่คณะของเราไปช่วยประโคมเข้าอีกหนึ่งแรง ทำให้ผู้คนตื่นเต้นแลเอิกเกริกจนเลยขอบเขต เป็นเหตุให้เกิดความแตกร้าวเป็นกลุ่ม เป็นก๊ก พระมหาปิ่นคุมสถานการณ์ไว้ไม่อยู่และหมู่ก็ไม่มี เมื่อเธอได้ทราบข่าวว่าเรามาอยู่ที่สงขลา เธอจึงได้ไปขอร้องให้คณะของเราไปช่วยแก้ไขสถานการณ์

๒๖.๒ เข้าไปเกาะภูเก็ตครั้งแรกและผจญภัยอย่างร้ายแรง

เกาะภูเก็ตสมัยนั้น ในมโนภาพของคนโดยมากเข้าใจว่า เป็นดินแดนอยู่โดดเดี่ยวและสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรเป็นอันมาก มีเศรษฐีเต็มไปหมดทั้งเกาะ

อนึ่งคนในเกาะนี้ นอกจากนักธุรกิจแล้วอาจไม่ค่อยได้เห็นโลกภายนอกนัก ความจริงแล้วมีส่วนถูกต้องราว ๓๐ % เพราะการคมนาคมก็ยังไม่สะดวก โดยมากข้ามไปเกาะภูเก็ตโดยทางเรือ เรายังจำได้เราข้ามไปเกาะภูเก็ตครั้งแรกไปเครื่องบิน ขึ้นจากสงขลาไปลงภูเก็ต เที่ยวบินที่เราไปมีพวกเราพระสองรูปกับฆารวาสหนึ่งคนเท่านั้น เมื่อส่งเราแล้วขากลับจากภูเก็ตมาลงสงขลามีคนโดยสารคนเดียวแท้ๆ

อนึ่งกรรมกรคนอีสานก็ยังมีไม่กี่คน คนแถบนั้นพากันกลัวคนอีสานเหมือนกับกลัวยักษ์กลัวเสืออย่างนั้นแหละ เพราะเขาได้ข่าวเล่าลือกันต่อๆ มาว่าคนอีสานใจดำอำมหิตโหดร้าย จับเด็กๆ ฆ่ากินเป็นอาหาร หลังจากเราเข้าไปแล้วได้หนึ่งปี กรรมกรอีสานพากันแห่เข้าไปเป็นหมู่ แล้วก็เดินตามหลังกันตามถนนยาวเหยียดเลย คนในเมืองพากันมองดูตาตั้งเทียว ส่วนคนที่อยู่ริมเมืองตลอดบ้านนอกเห็นเข้าแล้วพากันวิ่งเข้าบ้าน ถ้าอยู่ป่าก็วิ่งหัวซุกหัวซุนเข้าป่าเลย นี่เราก็ไม่ได้เห็นด้วยตาตนเองดอก แต่คนเขามาเล่าสู่ฟัง

ด้านความมีความจนคนไทยเราทุกภาคก็เห็นจะไม่เกินกันถึง ๕% กระมัง คนเรามีมากใช้มากมีน้อยใช้น้อย ที่น่าสงสารคนภูเก็ตมากที่สุดก็คือ คนจนอยากจะทำตนให้เทียมคนมีคนรวยนี่ซี มันแย่หน่อย เราเข้าไปอยู่เกาะภูเก็ตครั้งแรก นอกจากจะไม่มีความตื่นเต้นอะไรแล้ว ยังไปผจญกับภัยแม่ต่อแม่แตนอีกด้วย นั่นคือยังเหลืออีกราว ๑๐ กว่าวันจะเข้าพรรษา ได้มีผู้คนพร้อมด้วยพระคณะหนึ่งเขารวมหัวกันกีดกันไม่ยอมให้พวกเราอยู่ หาวิธีกีดกันด้วยประการต่างๆ ถึงกับเอาไฟไปเผาเสนาสนะบ้าง ใส่ยาเบื่อบ้าง เอาก้อนอิฐปาบ้าง ห้ามมิให้คนตักบาตรให้กินบ้าง บางทีพวกเราออกบิณฑบาตเดินตรงใส่จะชนเอาบ้าง เราเป็นอาคันตุกะมาอยู่ในถิ่นเขา ต้องของ้องอนเขาได้เข้าไปหาหัวหน้าเขา ร้องขออยู่จำพรรษาในถิ่นนี้สักพรรษาบ้าง เพราะจวนจะเข้าพรรษาแล้ว ท่านไม่ยอมแลหาว่าเราเป็นพระจรจัดไปโน่นอีกด้วย เราได้ชี้แจงและอ้างเหตุผลอย่างไรๆ ให้ท่านฟังก็ยืนกรานไม่ให้อยู่ท่าเดียว สุดท้ายท่านบอกว่าผู้ใหญ่ท่านไม่ให้อยู่ (หมายถึงผู้ใหญ่ทางกรุงเทพฯ) เราก็เลยบอกท่านตรงๆ เลยว่า เมื่อผู้ใหญ่ท่านมี ผู้ใหญ่ผมก็มีเหมือนกัน ภายหลังได้ทราบว่าท้าทายอย่างหนักเลย บอกว่า ถ้าพระคณะธรรมยุตอยู่จำพรรษาที่ภูเก็ต – พังงาได้ จะยอมนุ่งกางเกงเอาเสียเลย ฟังดูแล้วน่ากลัวจัง

๒๗. พรรษา ๒๘ จำพรรษาที่โคกกลอย จังหวัดพังงา (พ.ศ.๒๔๙๓)

ผลที่สุดพวกญาติโยมที่เคารพนับถือพวกเรา ก็จัดเสนาสนะให้พวกเราอยู่จำพรรษาจนได้ ในปีนี้พระเณรได้ติดตามเราไปด้วยราว ๑๕ รูป รวมทั้งอยู่ก่อนแล้วเป็น ๑๘ รูป แล้วก็แยกกันอยู่สามแห่งด้วยกันคือ ที่ตะกั่วทุ่ง ๑ แห่ง ท้ายเหมือง ๑ แห่ง และที่โคกกลอยที่เราอยู่ที่นี่อีก ๑ แห่ง

ในพรรษานี้นอกจากคลื่นบนผิวน้ำจะกระทบอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังมีคลื่นใต้น้ำมากระทบกระหน่ำอีกด้วย นั่นคือคณะธรรมยุตด้วยกันนี่เอง เอะอะเอาว่าพวกเราไม่มีธรรมวินัยเป็นเครื่องดำเนินปฏิบัติ ผิดนอกแบบแผนตำราไม่ทำอุโบสถสังฆกรรมในโบสถ์ ใครอยากเป็นพระอรหันต์ไปหาอาจารย์เทสก์โน่น (อาจจะเป็นการประชดลูกศิษย์ที่หนีมาหาเราก็ได้ เพราะพระทางปักษ์ใต้ ออกพรรษาแล้ว หาผู้อยู่เฝ้าวัดยาก)

หากจะเป็นความเห็นเช่นนั้นจริง ถ้าเป็นพระนวกะบวชใหม่ไร้การศึกษา ก็ไม่เห็นแปลกอะไร แต่ถ้าเป็นพระที่มีพรรษาและมีการศึกษาพอควรแล้วน่าเห็นใจ เพราะท่านมีแต่ภาคศึกษาไม่ได้ปฏิบัติ ส่วนเราได้ปฏิบัติตามมาเป็นอาจิณตั้งแต่อุปสมบทพรรษาแรก เรื่องที่เขาไม่ยอมให้พวกเราอยู่จำพรรษายังไม่ยุติ ทราบว่าเรื่องได้ขึ้นไปถึงกรรมการศาสนาในทำนองฟ้องว่า พวกเราเป็นพระจรจัดมาทำให้บ้านเมืองวุ่นวายแตกร้าวสามัคคี แล้วมีคำสั่งมาให้บันทึกหนังสือสุทธิพวกเราเพื่อจะสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ศึกษาธิการจังหวัดไม่กล้ามาด้วยตนเอง ได้ใช้ให้ศึกษาธิการอำเภอมาขอบันทึก เมื่อเราถามหาหนังสือคำสั่งไม่มี เราจึงไม่ให้บันทึก แล้วได้ชี้แจงระเบียบบริหารการคณะสงฆ์ให้เขาทราบโดยถ้วนถี่

เมื่อเขากลับไปแล้ว ไม่ทราบว่าเขาทำอย่างไรกันเราก็ไม่ทราบ ทราบภายหลังว่าเจ้าคณะภาคมีหนังสือมาเทศนาให้เจ้าคณะจังหวัดและผู้ว่าการจังหวัดฟังกัณฑ์เบ้อเร่อ

เรื่องที่เล่ามานี้ เป็นเพียงเอกเทศของประสบการณ์ปีแรกที่เข้าไปอยู่ในเขตจังหวัดพังงา ถ้าจะเล่าทั้งหมดก็กลัวผู้อ่านจะเบื่อเรื่องขี้หมูขี้ราแห้ง คนเราเกิดมาในโลกนี้ ไม่ว่าใครจะทำอะไร ไม่ว่าดีหรือชั่ว จะเป็นไปเพื่อความเสื่อมหรือเจริญก็ตาม จำต้องมีอุปสรรคด้วยกันทั้งนั้น ที่จะสำเร็จตามเป้าหมายได้ อยู่ที่ความรอบคอบอดทน หาเหตุผลมาแก้ไข ถ้าหาไม่แล้วก็จะไม่บรรลุได้เลย แล้วก็เป็นกำลังใจในอันที่จะทำสิ่งนั้นๆ ให้บรรลุผลรวดเร็วเข้าอีกด้วย โดยเฉพาะพระคณะธรรมยุตไม่ว่าจะเป็นอยู่ ณ ที่ไหน ทำอะไรล้วนแต่มีอุปสรรคทั้งนั้น แล้วก็สำเร็จตามเป้าหมายโดยมาก

เราเลยอยากจะนำเอานิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอก กับลูกแกะมาสาธกไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า เฮ้ย มึงทำไมมาท่องน้ำของกูให้ขุ่นเล่า ลูกแกะ นาย ข้าไม่ได้ทำน้ำของนายให้ขุ่นดอก ข้าเดินอยู่ใต้น้ำต่างหาก สุนัขจิ้งจอก เถอะน่า ถึงเอ็งไม่ได้ทำน้ำของข้าให้ขุ่น พ่อของเอ็งก็ทำผิดไว้กับข้ามาแล้วหนักหนา ว่าแล้วก็ตะครุบเอาแกะไปกินเป็นอาหาร เอวัง

ออกพรรษาแล้วเราเริ่มสร้างกุฏิสมภารหนึ่งหลัง เป็นเรือนไม้แต่ยังไม่ทันเรียบร้อยดี

๒๘. พรรษา ๒๙ – ๔๑ จำพรรษาที่ภูเก็ต (พ.ศ.๒๔๙๔ – ๒๕๐๖)

พอดีวันตรุษจีนในแล้งนั้น คุณนายหลุยวุ้น ภรรยาหลวงอนุภาษภูเก็ตการ นายเหมืองเจ้าฟ้ามานิมนต์ให้เข้าไปภูเก็ต เราพร้อมด้วยพระมหาปิ่น และพระเณรอีกรวม ๔ รูปด้วยกัน พวกเราได้รอจังหวะและแสวงหาที่ตั้งสำนักอยู่จนกว่าจะสำเร็จ เราได้ย้อนมาโคกกลอยที่เราจำพรรษาอีก ให้พระมหาปิ่นดูแลการก่อสร้างจนเสร็จ เราจึงไปจำพรรษา ปีนี้พวกเราอยู่จำพรรษารวมกันมีพระ ๔ รูป สามเณร ๑ รูป ได้ที่เชิงเขาโต๊ะแซะ ข้างศาลากลางจังหวัดเป็นที่จำพรรษา

เบื้องต้นการก่อสร้างทำเป็นเรือนจากห้องเล็กๆ พอหมดกลดหมดมุ้ง เว้นแต่กุฏิสมภารค่อยใหญ่หน่อย เราได้ทำลงที่ป่าหญ้าคาอันหนาทึบ อยู่บนเชิงเขาโต๊ะแซะข้างหลังศาลยุติธรรมภูเก็ต ซึ่งคุณนายแขไปตกลงขอซื้อกับเจ้าของคือนายบวร พ่อค้าแร่ ๔ ไร่ เป็นราคา ๑,๐๐๐ บาท เดิมที่นี้เป็นสวนมะพร้าวของเศรษฐีเก่าแต่ร้างไปนานแล้ว นายบวรรับซื้อไว้ทำเหมืองแร่ต่อ ผลที่สุดแร่ก็ไม่มีจึงขายให้คุณนายแข แต่คุณนายแขได้ซื้อไว้น้อยไป เราจึงได้ซื้อเพิ่มเติมอีก ๔ ไร่เป็นเงิน ๔,๐๐๐ บาท

ที่นี้เดิมเป็นป่าหญ้าคาหนาทึบ มีสัตว์ร้ายต่างๆ เช่น เสือโคร่ง เสือดำ กวาง เก้ง หมูป่า และลิง เราทำกุฏิเล็กๆ และบริเวณก็แคบพอปัดกวาดรอบได้ แล้วก็ทำทางพอเดินไปหากัน กลางคืนเราเปิดกุฏิออกมาจะเดินไปหากัน เสือกระโดดเข้าป่าโครม บางทีพากันนั่งฉันน้ำร้อนตอนเย็นๆ เสียงร้องตะกุยๆ ออกมาจากป่าแทบจะเห็นตัวเลย กลางวันแสกๆ ยังตะครุบเอาสุนัขเอาแมวไปกินก็มี ดีว่าเสือเหล่านี้ไม่อาละวาด เสือก็อยู่ตามเรื่องของเสือ คนก็อยู่ตามเรื่องของคน เสียงเสือโคร่งร้องคนเมืองภูเก็ตนี้ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป เราเคยเที่ยวป่ามามากแล้ว เสือมันร้องจะทำเสียงเช่นไรเรารู้เรื่องของมันหมด

พวกเราได้อยู่เกาะภูเก็ตตลอดเวลา ๑๕ ปี ไม่เคยได้กลับจำพรรษาในเขตพังงาอีกเลย แต่พังงาตลอดถึงกระบี่ในสามจังหวัดนี้ อยู่ในคุ้มครองของเราทั้งหมด เปรียบเหมือนกับวัดเดียวกัน มีกติกาข้อวัตรแนวปฏิบัติระเบียบอันเดียวกันทั้งหมด พระเณรรูปไหนไม่ว่าอยู่ ณ สำนักใดก็ตาม หากขัดข้องต้องประสงค์สิ่งใดในสิ่งที่จำเป็น ใครมีอะไรก็เฉลี่ยแบ่งปันสงเคราะห์กันตามมีตามได้ มีงานในสำนักไหนก็พร้อมใจพร้อมแรงกันทำด้วยความสามัคคี หากจะมีปัจจัยลาภเกิดขึ้นก็พร้อมกันมอบถวายไว้เพื่อบำรุงในสำนักนั้นๆ ต่อไป ปัจจัยเขาถวายเฉพาะส่วนตัวก็พากันเก็บไว้เป็นกองกลาง เราเป็นอุปัชฌาย์เขาถวายส่วนตัวเรามอบถวายไว้เป็นกองกลางยังถูกเขาต่อว่าเลย แต่พวกเราก็มิได้มีความเดือดร้อนเพราะไม่มีเงินในกระเป๋าเลย ญาติโยมเขาเอาใจใส่ดูแลปฏิบัติพวกเราอย่างดีเลิศ ขาดเกินอะไรแม้แต่ค่ารถไฟไปมาเขาก็พากันจัดการให้เรียบร้อยทั้งนั้น เรื่องเหล่านี้ไม่มีที่ไหนอีกแล้ว นับแต่เราบวชมาที่จะได้รับความสะดวกเหมือนครั้งนี้ พวกเราจึงขอขอบพระคุณชาวภูเก็ต – พังงาที่ได้อุปัฏฐากพวกเราไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ในช่วงระยะที่เราเข้ามาอยู่เกาะภูเก็ตนี้ เราพยายามสร้างแต่ความดีทั้งเพื่อตนแลส่วนรวม ได้ติดต่อกับเจ้าคณะท้องถิ่นทุกๆ รูป และท่านเหล่านั้นก็ให้ความเอื้อเฟื้อแก่พวกเราเป็นอย่างดียิ่ง มีธุรกิจการงานอะไรเกิดขึ้นก็เคยได้ร่วมกันปรึกษาหารือกันบ่อยๆ และเข้าใจกันดี เข้าพรรษาเราได้พากันปรึกษาหารือกันบ่อยๆ และเข้าใจกันดี เข้าพรรษาเราได้พาคณะของเราไปถวายเครื่องสักการะแก่พระเถระทั่วทุกๆ รูป ทุกๆ ปีไม่เคยขาด ไม่เหมือนที่พังงา แม้ที่พังงาก็มีบางคนส่งข่าวมาบอกเราว่า เขาไม่พากันรังเกียจคณะของเราดอก เขาเกลียดเฉพาะพระมหาปิ่นรูปเดียวเท่านั้น เห็นจะเป็นเพราะพระมหาปิ่นเธอพูดโฮกฮากโปงปางโผงผางลืมตัว เมื่อมีคนยอเข้าก็ได้ใจ คนแบบนั้นถือไม่ได้ดอก เข้าตำราภาษาอีสานว่า ใครถือคนชนิดนั้นจะไม่มีช้อนซดน้ำแกง

ส่วนด้านญาติโยม พวกเราที่อุตส่าห์พยายามอบรมสั่งสอนให้รู้จักขนบธรรมเนียมในทางพุทธศาสนา แล้วก็ทำเป็นตัวอย่างให้ดูตลอดถึงสอนให้รักษาอุโบสถ ไม่ใช่แต่ในพรรษา นอกพรรษาก็ให้รักษาด้วย สนับสนุนพระที่ท่านสอนเป็นทุนไว้ก่อนแล้วให้มั่นคงยิ่งๆ ขึ้น ซ้ำพวกเรายังได้ฝึกอบรมภาวนาทำสมาธิทุกๆ คืน จนทำให้เขาเหล่านั้นได้ผลเป็นที่ประจักษ์แก่ตนเองตามกำลังศรัทธาของตนๆ อีกด้วย

อนึ่งหมู่เพื่อนทางอีสานที่เป็นคณะเดียวกัน ก็ได้พากันทยอยติดตามเราลงไปมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนกุลบุตรในท้องถิ่นก็เกิดมีศรัทธาพากันมาอุปสมบทเรื่อยๆ คณะธรรมยุตทางปักษ์ใต้ผู้มีใจสมัครรักใคร่ในทางปฏิบัติก็พากันมาอบรมด้วยเป็นอันมาก แล้วก็ได้ขยายสำนักออกไปถึงจังหวัดกระบี่ รวมทั้งสามจังหวัดนี้มีสำนักที่พวกเราไปอยู่จำพรรษา ๑๑ สำนักด้วยกัน ปีหนึ่งๆ ในพรรษามีพระเณรรวมทั้งหมดเฉลี่ยแล้วร้อยกว่ารูป มากกว่าพระเณรในเขตอำเภอเมืองภูเก็ตเมื่อปีเราไปอยู่ครั้งแรกอีกเท่าตัว

เมื่อมีพรรคพวกมากขึ้น เราได้จัดให้มีการศึกษานักธรรมเปิดสอนประจำในสำนักของใครของมัน ถึงเวลาสอบแล้วจึงมารวมกันสอบ ปีแรกเราได้ให้ไปสอบที่สำนักวัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปีต่อมาเราได้ขออนุญาตเปิดสอบขึ้นที่วัดเจริญสมณกิจภูเก็ตเอง มีนักเรียนทั้งสามชั้นเข้าสอบรวมไม่น้อยกว่า ๖๐ รูปทุกๆ ปี แล้วก็สอบได้คะแนนดีเสียด้วย จนมหามกุฏราชวิทยาลัยยกฐานะให้เป็นชั้นโท

เราเห็นคุณค่าในกิจการพระพุทธศาสนาที่มีทั้งปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไป จึงได้ดำเนินตามแนวนั้นสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้ พวกเราได้ต่อสู้กับอุปสรรคนานาประการเป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี เพื่อบำเพ็ญศาสนกิจอันเป็นประโยชน์แก่ตนและประโยชน์ส่วนรวม เพื่อฉลองความต้องการของญาติโยมชาวภูเก็ต – พังงา อันมีพระคุณแก่พวกเราเป็นอันมาก อย่างน้อยเขาเหล่านั้นก็ได้ดูโฉมหน้าตาอันแท้จริงของพระคณะธรรมยุตและคณะศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ นัยว่าพระคณะธรรมยุตเคยมาเพื่อจะตั้งรกรากลงที่ภูเก็ตนี้ตั้งหลายครั้งแล้วแต่ไม่เป็นผล อนึ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องชื่อนามของท่านอาจารย์มั่นละ แม้แต่ลูกศิษย์ของท่านก็ไม่เคยกล้ำกรายเข้ามาในภูเก็ตนี้เลย คณะของพวกเราเข้ามาตั้งสำนักจนก่อสร้างให้เป็นวัดถาวรลงได้นี้ นับว่าเป็นประวัติการณ์ของคณะธรรมยุตและของเกาะภูเก็ตทีเดียว แล้วเราก็ภูมิใจว่า เราได้ทำการใช้หนี้สินชาวภูเก็ต – พังงา ผู้ไม่เรียกร้องเอาหนี้คืนแล้ว

๒๘.๑ ความวิตกกังวลของเรากลายมาเป็นความจริงขึ้น

ความวิตกของเราเรื่องบริหารหมู่คณะดังกล่าวมาแล้วในบท ๒๖.๑ กลายมาเป็นความจริงขึ้น กล่าวคือ ก่อนจะไปปักษ์ใต้เราได้ติดต่อพระผู้ใหญ่ทางกรุงเทพฯ ให้ท่านได้รู้จักไว้ แล้วเราก็ได้ลงไปทางปักษ์ใต้ทำความรู้จักกับเจ้าคณะทุกๆ องค์ จนได้เข้าไปอยู่เกาะภูเก็ต แท้จริงเกาะภูเก็ตนี้เป็นที่เลื่องลือโด่งดังมาแต่ก่อนนัก ใครไปอยู่แล้วจะต้องร่ำรวยมาก เราไปอยู่ยังมีคนโจษจันกันว่าเรานั้นร่ำรวยอย่างมหาศาล ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

เราอยู่เกาะภูเก็ต ๑๕ ปี ไม่มีอะไรเลย ปัจจัยลาภได้มาทุกสตางค์แลทุกๆ องค์ก็เก็บไว้กองกลางและก่อสร้างหมด เสนาสนะก็มีไม่กี่หลัง เรามาอยู่ทางอีสานไม่ถึง ๑๐ ปี เสนาสนะนับหลังไม่ถ้วน อุโบสถก็เรียบร้อย ศาลาการเปรียญสองชั้นก็เสร็จ

ทั้งนี้เรามิได้เหยียดหยามดูถูกชาวภูเก็ต พังงา เพื่อแก้ความกังขาที่ว่าเรารวยนั้นต่างหาก คนชาวภูเก็ต พังงา ปฏิบัติพวกเราดีเลิศดังกล่าวแล้ว ไม่มีที่ไหนจะปฏิบัติดีเท่าเลย ส่วนวัดเขาไม่นิยมสร้าง มันก็ดีเหมือนกันเพราะสร้างหรูหรามากไม่ดีเป็นกังวล ไปไหนมาไหนเป็นห่วง เราหนีจากเกาะภูเก็ตไม่มีอะไรเป็นห่วง น่าสงสารแต่ชาวบ้านที่ได้เคยปฏิบัติพวกเราเท่านั้น เราหนีมาแล้วได้มอบเงินแสนกว่าบาทให้พระครูสถิตบุญญารักษ์ (บุญ) เธอได้ทำการก่อสร้างอุโบสถ อยู่ ๔ – ๕ ปี จึงสำเร็จเป็นประวัติการณ์อีกเหมือนกัน

พระที่ภูเก็ต พังงา ที่จะมาสร้างอุโบสถบนไหล่เขาที่ต้องพังลงมาให้ราบ แล้วจึงทำเป็นอุโบสถได้เช่นนี้ และสร้างเพียง ๔ – ๕ ปีสำเร็จไม่มี อนึ่ง คณะของเราเข้ามาอยู่เกาะภูเก็ตนี้ เป็นเหตุให้พระผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ตลอดจนสาธุชนทั่วไปสนใจในคณะของเรามากขึ้น แต่ส่วนตัวเราแล้วไม่มีอะไร เฉยๆ อุปสรรคต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วก็เป็นธรรมดา เราเคยผ่านมาแล้วนับไม่ถ้วน

ในขณะนั้น วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ในกรุงเทพมหานครกำลังตั้งกัมมัฏฐานแบบพม่า ยุบหนอพองหนอ โฆษณาออกแบบแพร่กันมาก แต่มิได้ออกป่า อยู่ตามบ้านตามวัด มีคนได้ขั้นได้ชั้นกันก็มาก บางคนถึงกับตัวแข็งทื่อไม่รู้สึกเลยก็มี ในขณะเดียวกันนั้น วัดราชประดิษฐ์ วัดบวรนิเวศวิหารและวัดอื่นๆ ก็ตั้งคณะของลูกศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ปฏิบัติมานานกว่า ๕๐ ปีแล้ว แต่ไม่เคยออกโฆษณาเลย

เมื่อเสียงโฆษณาจากฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งไม่โฆษณา ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องดังไปตามกัน แต่ดังไม่มีเสียง จะได้ดังต่อไปนี้คือ

เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ เจ้าคณะภาค (ธรรมยุต) ได้อาราธนาให้พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ไปอบรมกัมมัฏฐานแก่พุทธบริษัทชาวเมืองเพชรบุรี

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๕ ขอสมณศักดิ์

ตามโลกธรรมย่อมครอบงำถึงด้วยกันทั้งนั้น เว้นแต่เราจะรับเอาโลกธรรมนั้นมาไว้เป็นเจ้าแห่งหัวใจของเราหรือไม่เท่านั้นเอง เราใช้โลกธรรมให้เป็นประโยชน์ก็ดีเหมือนกัน เมื่อก่อนหมู่เพื่อนและใครๆ เห็นเราแล้วดูเหมือนเราเป็นหลวงตาคนป่าคนหนึ่งอย่างนั้นแหละ แต่เราก็ชอบเป็นหลวงตาคนป่านั้นด้วย แต่พอเราได้มีตำแหน่งและได้รับสมณศักดิ์แล้ว มาพระครูญาณวิศิษฏ์ให้พระอาจารย์สิงห์ พร้อมกันนี้ก็ได้ขอให้เราอีกองค์ แต่เรานั้นได้ตกไปเพราะเรายังไม่มีสำนักเป็นที่อยู่ถูกต้องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๖ แต่งตั้งให้เราเป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมกันนี้ก็ได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอภูเก็ต – พังงา – กระบี่ (ธรรมยุต)

เมื่อวันที่ ๕ ธนวาคม พ.ศ.๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูนิโรธรังสี

เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๙ ให้รักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด (ธรรมยุต) ในจังหวัดภูเก็ต – พังงา – กระบี่ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย พร้อมกันนี้ก็ให้เป็น ผู้อำนวยการศึกษาธรรมในสามจังหวัดนั้นด้วย

เมื่อวันที่ ๕ ธนวาคม พ.ศ.๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญ ฝ่ายวิปัสสนา ที่พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ พร้อมกับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ และพระอาจารย์ลี ธัมมธโร พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์

เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๗ ตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดในสามจังหวัดนั้น

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๘ ได้ขอลาออกจากเจ้าคณะทั้งสองตำแหน่งเป็นกิตติมศักดิ์สมณศักดิ์

อาจนับได้ว่าเป็นประวัติการณ์ พระฝ่ายวิปัสสนาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ รองจากเจ้าคุณวิปัสสนาโกศลเถระ วัดภาษีเจริญ แต่ก่อนมีแต่ชื่อ ตัวจริงไม่มี ดังเราจะเห็นได้จากชื่อพระราชาคณะผู้ใหญ่ มีสมัญญาห้อยท้ายว่า ฝ่ายอรัญญวาสี เป็นต้น ต่อจากนั้นมาคณะคณาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานที่เป็นลูกศิษย์สายของพระอาจารย์มั่น ก็มีผู้ได้รับสมณศักดิ์เรื่อยๆ มาหลายรูป

เรื่องสมณศักดิ์ของพระคณะกัมมัฏฐานนี้เราไม่อยากให้มี เพราะมันไม่สมดุลกันโดยเฉพาะคณะลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เราเคยได้มีหนังสือส่วนตัวคัดค้านพระผู้ใหญ่แล้ว และต่อหน้าท่านเราก็เคยคัดค้าน โดยอ้างสิ่งที่ควรแลไม่ควร อุปมาเหมือนเอาเครื่องเพชรไปแขวนไว้ที่คอของลิง มันจะมีความรู้สึกอะไร แต่นี้ก็เป็นความเห็นส่วนตัวของเราอีก แต่มันไม่แน่เหมือนกัน ลิงบางตัวเมื่อถูกแต่งด้วยเครื่องเพชรเข้ามันอาจเข้าใจว่าตัวเป็นมนุษย์ไปก็ได้ แต่ผลที่สุดท่านก็ขอร้องเพื่อประโยชน์แก่การบริหารคณะสงฆ์ส่วนรวมจนได้

เราเกิดมาในโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ ย่อมมีสิทธิเสรีอยู่ได้โดยชอบ แต่ทุกๆ คนจะมีอยู่ในเพศภูมิและฐานะมีจนใดๆ เดี๋ยวนี้ใครๆ เห็นเข้าแล้วเรียกออกชื่อทักทายเชื้อเชิญในที่ทุกสถาน แม้เราต้องการจะติดต่องานอะไรก็คล่องตัว ฉะนั้น สมณศักดิ์จึงเพิ่มภาระและเป็นเกียรติแก่เรามากขึ้น เราจึงไม่เห็นสมควรแก่พระผู้ต้องการความสงบอยู่ป่าเลย

เราเข้ามาอยู่เกาะภูเก็ต ๒ – ๓ ปีแรกก็ดีดอก สุขภาพก็พอเป็นไป แต่ปีต่อๆ มาโรคของเราไม่ค่อยถูกกับอากาศเสียเลย มันเป็นธรรมดาโรคนักเที่ยวของเรา อยู่ไหน สุขภาพจะดีปกติไม่เกิน ๓ ปี ต่อนั้นไปแล้วจะเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไปเลย แล้วในใจของเราก็มิได้ตั้งใจจะอยู่ ณ ที่ภูเก็ตนี้ตลอดไป เราเคยได้บอกเรื่องนี้กับหมู่เพื่อนและญาติโยมไว้แต่ปีมาอยู่ทีแรกแล้ว แต่เราก็อยู่มาได้นานถึง ๑๕ ปี เพราะการขอร้องของพระผู้ใหญ่และญาติโยมแท้ๆ

มาเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ เราได้ขออำลาชาวภูเก็ต – พังงา – กระบี่ ด้วยความสงสารในน้ำตาอันนองหน้าของเขาเหล่านั้น พร้อมด้วยสำนักต่างๆ ที่พวกเราได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจ โดยได้ใช้พัสดุและทรัพย์ของชาวปักษ์ใต้ก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุทั้งปวง มอบให้เป็นมรดกแก่ชาวปักษ์ใต้ทั้งหมด พร้อมด้วยตำแหน่งอันมีเกียรติของเราด้วย พวกเราจึงขอให้ชาวปักษ์ใต้ที่ได้อุปถัมภ์ค้ำจุนพวกเราทุกๆ คน จงประสบแต่ความสุขความเจริญภิญโญยิ่งด้วยยศ ลาภ อายุ วรรณะ สุขะ สมบูรณ์ทุกๆ คนเถิด อนึ่ง วัดและสำนักต่างๆ ขอจงจิรังถาวรเจริญรุ่งเรืองเพื่อปรโยชน์แก่คนส่วนรวมเถิด

๒๙. พรรษาที่ ๔๒ จำพรรษาที่ถ้ำขาม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร (พ.ศ.๒๕๐๗)

เมื่อเราออกจากเกาะภูเก็ตเปลื้องปลดภาระอันนั้นแล้ว เราก็ตั้งใจแสวงหาที่วิเวก ความสงบตามวิสัยเดิมของตน เมื่อเที่ยวไปเยี่ยมท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่อำเภอพรรณานิคม ไปเห็นวัดถ้ำขามของท่านเข้า เรารู้สึกชอบใจ เราจึงขอจำพรรษา ณ ที่นั้นหนึ่งพรรษา ที่นี่ถึงแม้บริเวณวัดจะไม่กว้างขวางเท่าไรนักแลเขาก็ไม่สู้จะสูง แต่อากาศดีมาก

ท่านเป็นคนขยัน ออกพรรษาแล้วพาญาติโยมทำทางขึ้นเขาทุกปีจนเกือบถึงยอดเขา พวกญาติโยมก็ชอบใจเสียด้วย ถ้าอาจารย์ฝั้นเรียกทำงานแล้วการงานส่วนตัวจะมากสักเท่าไรก็ทอดทิ้ง ผู้ที่ขึ้นไปถึง แม้จะได้รับความเหน็ดเหนื่อยหายใจไม่ทั่วท้องก็ตาม พอขึ้นไปถึงวัดท่านแล้วพักอยู่ ๕ – ๖ นาที อากาศที่นี่เรียกเอากำลังมาเพิ่มให้คุ้มค่าเหนื่อยที่เสียไป

ตามสำนวนของผู้ติดถิ่นที่ว่าไม่ต้องหาสถานที่และอากาศที่ไหนๆ มันอยู่ที่ตัวของเรา เราทำตัวของเราให้วิเวกแล้ว มันก็วิเวกเท่านั้นเอง นั้นไม่จริง สัปปายะทั้งสี่เป็นกำลังของการปฏิบัติธรรมได้อย่างแท้จริง ถ้าเราไม่ทำตัวของเราให้เหมือนกับหมูบ้านแล้ว การเปลี่ยนสถานที่ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนบรรยากาศและอารมณ์ด้วย หมูป่ากับหมูบ้านย่อมมีสภาพผิดแผกกันมาก แม้แต่อาหารและอากัปกิริยาย่อมส่อให้เห็นตรงกันข้ามเลย

ในพรรษานี้ เราได้บำเพ็ญความเพียรอย่างเต็มที่ เพราะญาติโยมและหมู่เพื่อนที่อยู่จำพรรษาด้วยก็ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ฝั้น ที่ท่านได้อบรมมาดีแล้วทั้งนั้น เราไม่ต้องเป็นภาระที่จะต้องอบรมเขาอีก เมื่อเราได้มีโอกาสประกอบความเพียรติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ความรู้และอุบายต่างๆ ที่เป็นของเฉพาะตัวย่อมเกิดมีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ เราไม่ต้องนั่งหลับตาภาวนาละ แม้จะนั่งอยู่ ณ สถานที่ใด เวลาไหน มันเป็นภาวนาไปในตัวตลอดกาล จะพิจารณาตนและคนอื่น ตลอดถึงทิวทัศน์มันให้เกิดอุบายเป็นธรรมไปทั้งนั้น อดีตารมณ์ไม่ว่าจะเป็นส่วนอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ก็ตาม สัญญาเก่ามันนำหยิบยกขึ้นมาให้ดูล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อธรรมสังเวชทั้งสิ้น

ออกพรรษาแล้วพระอาจารย์ขาวพาคณะลูกศิษย์ของท่านขึ้นไปเยี่ยมอยู่พักหนึ่ง ท่านก็ชอบใจเหมือนกัน ท่านยังได้ขอร้องให้เราไปอยู่ถ้ำกลองเพลแทนด้วย แล้วท่านจะมาอยู่ที่นี้ แต่เราปลดเปลื้องภาระแล้ว ไม่ต้องการความยุ่ง หลังจากนั้นมาไม่นาน เขาได้นิมนต์ให้เรามาทำบุญงานศพที่อุดรฯ แล้วเราเลยไปเยี่ยมถ้ำกลองเพลครั้งแรก แต่เราไม่ค่อยชอบอากาศ (คือที่เดิมอยู่หลังถ้ำ) พอเสร็จงานพิธีแล้วเราจึงได้ออกเดินทางจากอุดรฯ มาพักที่วัดป่าพระสถิตย์ อำเภอศรีเชียงใหม่ กับพระอาจารย์บัวพา ปัญญาภาโส จากนั้นจึงได้ลงเรือไปพักวิเวกอยู่ที่หินหมากเป้งกับพระคำพัน

๓๐. พรรษา ๔๓ – ๕๐ จำพรรษาที่หินหมากเป้ง (พ.ศ.๒๕๐๘ – ๒๕๑๕)

หินหมากเป้ง เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่ชนแถบนี้ในความที่หนาวจัดดังคำพังเพยที่ว่า ‘ไม่มีผ้าฟา (ผ้าห่ม) อย่าไปนอนหินหมากเป้ง’ ในแถบนี้หินหมากเป้งหนาวกว่าเขาทั้งหมดในฤดูหนาว และมีผีดุ ทั้งเป็นที่อยู่ของสัตว์ร้ายต่างๆ มีเสือ หมี ผี เป็นต้น

เมื่อก่อนราว ๔๐ ปีมาแล้ว คนมาทางเรือพอมาถึงบริเวณนี้แล้วจะพากันเงียบกริบไม่มีเสียงเลย แม้แต่จะเงยหน้าขึ้นดูตลิ่งก็ไม่อยากดู ในนามเป็นที่วิเวกเพราะความกลัวของคนนั่นเอง จึงไม่ค่อยมีใครกล้าเข้ามา พระกัมมัฏฐานมักจะมาอยู่วิเวก เพื่อทดสอบความเป็นผู้ยอมเสียสละ พระกัมมัฏฐานรูปไหนมาอยู่ได้ ก็เป็นที่เชื่อใจตนเองได้แล้วว่าเป็นผู้กล้าพึงตนเองได้ และหมู่เพื่อนก็ยอมรับว่าเป็นผู้กล้าหาญยอมสละได้จริง

และเป็นที่รู้จักกันดีของกองปราบทั้งหลาย คือเมื่อผู้คนหนาแน่นเข้า สัตว์ร้ายต่างๆ ก็ค่อยหายไป ภายหลังกลับมาเป็นด่านขนของหนีภาษีและขโมยวัวควายข้ามฟาก เมื่อวัวควายหายหรือได้ข่าวว่าจะมีคนขนของหนีภาษีแล้ว เจ้าหน้าที่หรือเจ้าของทรัพย์จะต้องมาพักซุ่มคอยจับเอาตรงนี้ แลที่สุดบ้านโคกซวกพระบาท ห้วยหัดซึ่งอยู่ติดกันนี้พลอยเหม็นโฉ่ไปด้วย

อนึ่งเมื่อผู้เฒ่าคนเก่านักประวัติศาสตร์สังสรรค์กันแล้ว มักจะพูดกันถึงเรื่องหินหมากเป้งข้างหน้าว่า กษัตริย์ทั้งสามพระนครจะพากันสร้างหินหมากเป้งให้เจริญ เพราะหินสามก้อนซึ่งตั้งเรียงรายกันอยู่ฝั่งแม่น้ำโขงนี้ (ความจริงมันติดเป็นพืดอันเดียวกันไป เมื่อดูมาแต่ไกลคล้ายกับเป็นสามก้อน)

ก้อนเหนือ (คือเหนือน้ำ) เป็นของหลวงพระบาง ก้อนกลาง เป็นของบางกอก ก้อนใต้ เป็นของเวียงจันทน์ เราฟังแล้วน่าขบขันมาก ใครจะมาสร้างเพื่อประโยชน์อะไร ป่าทึบรกจะตาย เป็นที่อยู่ของสัตว์ร้ายทั้งนั้น ถึงแม้กาลเวลาจะผ่านพ้นไปแล้ว ๔๐ กว่าปีก็ตาม

เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๐๗ เราเข้ามาสู่สถานที่นี้เป็นครั้งแรก เรายังได้ดูและฟังเสียงอีเก้งและนกกระทาขันอยู่เลย ลิงทโมนตัวเบิ้มยังอุตส่าห์ด้อมๆ ไต่กิ่งไม้มาให้เราชมเป็นขวัญตาในวาระสุดท้ายของมันอีกด้วย ทั้งอากาศและทิวทัศน์เช่นนี้ดูจะหาดูได้ยากเหมือนกัน เรามาเห็นเข้าแล้วนึกชอบใจ แล้วเราตั้งใจจะอยู่จำพรรษากับพระคำพันต่อไป

ในใจเราคิดว่าจะหยุดการก่อสร้างและรับภาระใดๆ ทั้งหมดละ แต่คนอื่นอาจเห็นไปว่าความคิดเช่นนี้อาจเป็นของเลอะเลือนไปก็ได้ แต่ในใจจริงของเราแล้วเห็นว่าการก่อสร้างและการบริหารหมู่คณะตลอดถึงการรับแขก เราได้ทำมามากแล้ว ควรจะหยุดเสียที แล้วรีบเร่งประกอบความเพียรเตรียมตายเสียดีกว่า เพราะอายุเราก็มากถึงขนาดนี้แล้วไม่ทราบว่ามันจะตายวันไหน จึงได้ปรารภกับพระคำพันว่า ผมจะมาขอพักผ่อนอยู่กับคุณ เรื่องการก่อสร้างและอื่นๆ ใด ขอให้เป็นภาระของคุณทั้งหมด หากต้องการจะศึกษาอบรมในด้านปฏิบัติแล้ว ผมยินดีแนะนำให้ เธอก็รับและยินดีด้วยเธอยังบอกว่า ผมไม่มีความสามารถในการหาทุนมาก่อสร้าง หากมีทุนผมจะรับภาระได้ แล้วเราก็ได้บอกเธอว่า บางทีอาจมีก็ไม่แน่ แต่ผมก็ไม่หาแล้ว มีผู้ให้ก็เอา ไม่มีผู้ให้ก็แล้วไป

ออกพรรษาแล้วได้มีนางติ๋ม (ร้านขายเครื่องอะไหล่รถยนต์) นครเวียงจันทน์ พ่อลี แม่เป่า (พา) บ้านโคกซวก กับ นายประสพ คุณนิติสาร และญาติ (อุดรธานี) ได้มีศรัทธาพากันมาสร้างกุฏิไม้ถวายคนละหลัง คิดเป็นมูลค่าหลังละประมาณ ๕,๐๐๐ บาท (กุฏิในวัดทั้งหมดทำเป็นแบบเรือนทรงไทยทั้งนั้น) นางนวยได้สร้างกุฏิอุทิศให้นางบัวแถว มาลัยกรอง หนึ่งหลังเป็นมูลค่า ๑๐,๐๐๐ บาท

เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ ญาติโยมทางกรุงเทพฯ ได้ลงเรือมาเยี่ยม เมื่อมาเห็นสถานที่และสภาพความเป็นอยู่ของวัดแล้ว พากันชอบใจเกิดศรัทธาหาเงินมาบูรณะและก่อสร้างศาลาการเปรียญเป็นเรือนไม้ทรงไทย รูปสองชั้น ข้างล่างมุมเป็นระเบียงรอบสามด้าน พื้นลาดซีเมนต์เสมอกัน ข้างบนยาว ๑๗ เมตร กว้าง ๑๑ เมตร ข้างล่างยาว ๑๙.๕๐ เมตร กว้าง ๑๖ เมตร เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๐ คิดเป็นมูลค่าประมาณแปดหมื่นบาทเศษ (๘๔,๗๖๓ บาท) แรงงานโดยส่วนมากพระเณรพากันทำเอง พระคำพันป่วยเจ็บตาได้หนีไปรักษาแล้วไม่กลับมาอีก อนึ่ง ในศกเดียวกันนี้ทุนของญาติโยมทางกรุงเทพฯ อีกนั่นแหละ สร้างกุฏิถวายอีกสองหลัง และนายศักดิ์ชัยพร้อมด้วยญาติที่ตลาดพังโคน อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร หนึ่งหลังเป็นมูลค่าหลังละประมาณ ๗,๐๐๐ บาท พร้อมกันนี้ได้ทำส้วมอีก ๔ ห้อง โดยทุนของวัด

เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ ได้สร้างถังเก็บน้ำฝนคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังศาลาการเปรียญยาว ๑๑ เมตร กว้าง ๓ เมตร สูง ๑.๘๐ เมตร สิ้นเงินไป ๑๕,๐๐๐ บาท

เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ ได้สร้างกุฏิสองชั้นที่ริมฝั่งแม่โขง โดยทุนของ คุณนายทรัพย์ ศรีมุกติ (กรุงเทพฯ) ๑๕,๐๐๐ บาท นอนนั้นเป็นทุนของวัด เสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ้นเงินประมาณ ๗๐,๐๐๐ บาท แล้วก่ออิฐกั้นห้องใต้ดินอีก หมดราว ๒,๐๐๐ บาทโดยทุนของวัด

อนึ่ง เถ้าแก่กิมก่าย (นายธเนตร เอียสกุล) (หนองคาย) ได้มีศรัทธาสร้างกุฏิไม้ถวายอีกหนึ่งหลัง สิ้นเงินไปประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท

ปีนี้ได้มุงหลังคาวิหารพระใหญ่โดยทุนของแม่เหลี่ยน ศรีสุนทร (สกลนคร) และนายกิมเซ็ง (นครเวียงจันทน์) เป็นเงินราว ๓,๐๐๐ บาท พร้อมกันนี้ก็ได้ปลูกศาลาบ้านชีอีกหนึ่งหลัง โดยทุนของวัด สิ้นไปประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท

เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ นายวิสิทธิ์ วงษ์สุวรรณ โรงสีวงษ์ทอง ได้มีศรัทธาสร้างกุฏิไม้ถวายหลังหนึ่งเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ปีนี้ได้เกิดพายุลมพัดแรง อันเป็นเหตุให้ต้นไม้หักทับระเบียงศาลาการเปรียญด้านตะวันตก ทำความเสียหายหมดไป ๒๐,๐๐๐ บาท โดยทางการกรุณาช่วยเหลือออกให้

ในปีเดียวกันนี้ได้สร้างถังเก็บน้ำฝนเทคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๓ เมตร ยาว ๖ เมตร สูง ๒ เมตร ที่บ้านชี ๑ ถัง ที่กุฏิเถ้าแก่กิมก่าย ๑ ถัง โดยยาว ๕ เมตร กว้าง ๔ เมตร สูง ๑.๒๐ เมตร ทั้งสองถังสิ้นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท โดยทุนของวัดเอง พร้อมกันนี้ได้ก่ออิฐกั้นลานหน้าศาลาการเปรียญสิ้นเงินไป ๕,๓๓๖ บาท

ปีนี้ออกพรรษาแล้วได้มีนักศึกษา พระสังฆาธิการ ๓๐ รูปจากนครราชสีมา พักอบรมกัมมัฏฐานอยู่ที่นี่ ๕ วัน เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ ทางวัดได้สร้างกุฏิไม้อีกหนึ่งหลัง โดยทุนของวัดสิ้นไปราว ๒๐,๐๐๐ บาท และได้ทำห้องส้วมบ้านชีอีก ๔ ห้อง ไว้รับแขกอีกสองห้อง บ้านพักแขกอีก ๑ หลัง โดยทุนของวัดทั้งหมด ทำถังเก็บน้ำฝนหน้าอุโบสถ เทคอนกรีตเสริมเหล็กยาว ๑๐.๔๐ เมตร กว้าง ๕ เมตร สูง ๒ เมตร สิ้นเงินไปประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาทเศษ โดยทุนของวัด

ราววันที่ ๕ กรกฎาคม ก่อนเข้าพรรษาเราได้เกิดอาพาธ ทีแรกเป็นไข้หวัดประสมกับหลอดลมอักเสบ ซึ่งเป็นอยู่ก่อนแล้ว ได้ให้แพทย์ประจำไร่ยาสูบบ้านหม้อมารักษา แต่อาการก็ไม่ทุเลาลง แพทย์หญิงทวินศรี สมรไกรสรกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองคาย กับคุณถวัล เศรษฐการจังหวัดได้เอารถมารับไปรักษาที่โรงพยาบาลหนองคาย หมอได้ให้การรักษาอยู่ ๕ วัน แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น เมื่อฉายเอกซเรย์ดูก็ได้ทราบว่าน้ำท่วมปอด และที่ปอดมีพยาธิสภาพเล็กน้อย

คุณตุ๊ โฆวินทะ จึงได้โทรเลขติดต่อศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ เมื่อได้ทราบดังนั้นจึงให้นิมนต์ไปกรุงเทพฯ และคุณหมอได้รอรับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชแล้ว อนึ่ง เนื่องจากหมอที่หนองคายนี้ที่เชี่ยวชาญโรคด้านนี้ไม่มี เครื่องมือก็ไม่พร้อม ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องไปกรุงเทพฯ

เถ้าแก่กิมก่ายพร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองคาย ได้นำเอาเราขึ้นเครื่องบินส่งที่โรงพยาบาลศิริราช เราเป็นคนไข้ของคุณหมออุดม โปษะกฤษณะ โดยมีคุณหมอธีระ ลิ่มศิลา เป็นหมอดูแลประจำ หมอทุกคนได้ให้การรักษาเราเป็นอย่างดีเลิศ หมอได้ดูดเอาน้ำออกจากช่องปอดเป็นจำนวนมาก

ในอาทิตย์แรกอาการของโรคดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ในอาทิตย์ที่สองเริ่มแพ้ยา กลับมีอาการอย่างอื่นเกิดแทรกแซงขึ้นอีก และจะเป็นเพราะเดิมปกติเราก็ไม่ค่อยถูกกับเรือนตึกอยู่แล้ว หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ เมื่อไปนอนอยู่โรงพยาบาลนาน ตอนหลังอาการจึงได้ทรุดลงๆ จนลมอ่อน พูดเสียงแผ่วเกือบจะไม่ได้ยิน หมอได้มาดูดเอาน้ำออกจากช่องปอดอีกเป็นจำนวนมาก อาการของร่างกายค่อยเบาขึ้นมานิดหน่อย แต่ความอ่อนเพลียยังไม่ดีขึ้น เราจึงได้ขอลาหมอออกจากโรงพยาบาล แต่หมอก็ได้ขอร้องให้เราอยู่ต่อไปอีก เราไม่สามารถจะอยู่ต่อไปได้ จึงลาออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๔

ตอนนี้ เราเห็นโทษเบื่อหน่ายในร่างกายมาก เพราะกายก้อนนี้แท้ๆ จึงได้ทำให้เราเกิดโรคเป็นทุกข์แก่ตนเองแลผู้อื่นอีกด้วย อาหารที่เราฉันอยู่นี้วันละนิดเดียวมันจะมีประโยชน์อันใด คิดแล้วตัดสินใจว่าวันนี้อย่าฉันเลย ได้บอกกับคุณกัณฑรัตน์ ทรัพย์ยิ่ง ผู้ถวายอาหารประจำว่า วันนี้อย่าเอาอาหารมาเลยเราไม่ฉันละ คุณกัณฑรัตน์ร้องไห้ไปตามแพทย์หญิงชะวดี รัตพงศ์ แล้วแพทย์หญิงชะวดีได้ไปเชิญคุณหมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ มา เพราะคุณหมออุดมไปราชการต่างจังหวัด

เราได้เล่าอาการของโรคที่เป็นอยู่ และความที่เราไม่ค่อยถูกกับบ้านตึกให้หมอฟัง คุณหมอโรจน์จึงได้อนุญาตแลจัดรถส่งเราไปที่บ้านพักคุณกัณฑรัตน์ ๓ คืน ก่อนออกจากโรงพยาบาลคุณหมอบัญญัติ ปริชญานนท์ ได้มาตรวจอาการและให้คำแนะนำในการรักษา คุณหมอโรจน์และคุณหมอชะวดีได้ตามไปรักษาและถวายยาทุกวัน อาการค่อยดีขึ้น

เราพิจารณาตัวเอง แล้วเห็นว่ายังไม่ตายก่อน แต่ในสายตาคนทั่วไปแล้วอาจเห็นตรงกันข้ามก็ได้ หมอดูบางคนยังทายว่าเราไม่เกิน ๕ วัน ต้องตายแน่ เมื่อศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ไปเยี่ยม เราขอความเห็นจากคุณหมออวยว่า อาตมา จะกลับวัด หมอเห็นว่าอย่างไร คุณหมออวยตอบว่า กลับได้เร็วเท่าไรยิ่งเป็นการดี เราแปลกใจและดีใจที่จะได้กลับวัด เพราะเราคิดว่าถึงตายก็ขอได้ไปตายที่วัดเราดีกว่า และสมแก่สมณสารูปโดยแท้

วันนั้นเถ้าแก่กิมก่ายได้เหมาเครื่องบินพิเศษส่งเรา มีพระและญาติโยมตามมาส่งเราเต็มเครื่องบิน ถึงสนามบินหนองคายเกือบเที่ยง พอดีแม่น้ำโขงกำลังนองเจิ่งล้นฝั่ง จึงต้องขอยืมเรือ น.ป.ข. จากบ้านกองนาง นำส่งถึงวัดหินหมากเป้ง ถึงวัดราว ๕ โมงเย็น หมอชะวดีก็ได้ตามมารักษาโดยตลอดจนถึงวัด และอยู่เฝ้าดูอาการไข้ถวายยาประจำราว ๕ – ๖ วัน เห็นว่าเรามีอาการดีขึ้นและปลอดภัยแล้ว หมอจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ

เราป่วยครั้งนี้เริ่มตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลหนองคาย จนกระทั่งถึงโรงพยาบาลศิริราช พระสงฆ์สามเณรตลอดถึงประชาชน ทั้งที่เราเคยรู้จักและไม่เคยรู้จัก ต่างพากันสนใจให้ความเมตตาแก่เรามาก ดังจะเห็นได้เมื่อเราไปอยู่ที่โรงพยาบาลหนองคาย ได้มีทั้งพระเณร ตลอดถึงฆารวาสไปเยี่ยมเราแน่นขนัดทุกวัน โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลศิริราช พากันไปมากเป็นพิเศษจนหมอห้ามเยี่ยม บางคนมาเยี่ยมไม่เห็นเราเพียง แต่ขอกราบอยู่ข้างนอกก็มี จึงเป็นที่แปลกใจมากทีเดียวว่า ไม่ค่อยรู้จักกับคนกรุงเทพฯ เท่าไรนัก เวลาเราป่วยทำไมจึงมีคนมาเยี่ยมเรามากมายเล่า บางคนพอเห็นเราเข้าแล้ว ทั้งๆ ที่เขาผู้นั้นยังไม่เคยเห็นหน้าเรามาแต่ก่อน ยังไม่ทันจะกราบก็ร้องไห้น้ำตาพรูออกมาก็มี

ฉะนั้น เราจึงขอจารึกน้ำใจเมตตาปรานีของท่านทั้งหลายเหล่านั้น อันมีแก่เราไว้ในความทรงจำตลอดสิ้นกาลนาน ผู้ที่น่าสงสารและขอขอบคุณมากที่สุดก็คือผู้ที่มาเยี่ยมและผู้ที่มาช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลเราที่วัดหินหมากเป้ง เมื่อกลับไปแล้วยังย้อนกลับมาอีกก็มี ในขณะนั้นการกลับไปกลับมาเป็นการลำบากมาก ต้องใช้เรือหางยาวเป็นพาหนะ เพราะเป็นเวลากำลังน้ำท่วมและถนนก็ขาด บางทีต้องนั่งเรือตั้ง ๓ – ๔ ชั่วโมงก็มี จึงเป็นที่น่าเห็นใจมากที่สุด

เมื่อเรามาถึงวัดแล้วอาการโรคทั่วไปค่อยดีขึ้นเป็นลำดับ ผู้ที่เคารพนับถือต่างก็พากันมาเยี่ยม พรรษานี้เรายอมขาดพรรษาเพราะกลับวัดไม่ทัน

การที่เราอาพาธครั้งนี้ เป็นผลดีแก่การภาวนาของเรามาก พอเราไปถึงโรงพยาบาลหนองคาย อาการโรคของเราไม่ดีขึ้นเลยมีแต่จะทรุดลง เราจึงได้เตรียมตายทันที ยอมสละทุกๆ วิถีทางแล้วบอกกับตัวเราเองว่า ร่างกายและโรคภัยของเจ้า เจ้าจงมอบให้เป็นธุระของหมอเสีย เจ้าจงเตรียมตายสำรวมจิต ตั้งสติให้แข็งแกร่งแล้ว พิจารณาชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดก็แล้วกัน หลังจากนั้นมาจิตสงบสบาย ปราศจากความรำคาญใดๆ ทั้งหมด หมอมาถามอาการโรค เราก็ได้บอกแต่ว่าสบายๆ

เถ้าแก่กิมก่ายมารับเอาเราขึ้นเครื่องบินไปกรุงเทพฯ เราก็ยอมแม้ไปถึงโรงพยาบาลศิริราช หมอมาถามอาการ เราบอกว่าอาการไข้ของเราสบายอยู่เช่นเคย แต่คนภายนอกดูแล้วเห็นจะตรงกันข้าม

เมื่ออยู่โรงพยาบาลนานวัน เป็นเหตุให้เกิดความรำคาญขึ้นมา เวลาวันคืนดูเหมือนเป็นของยาวนานเอาเสียเหลือเกิน เราจึงได้ย้อนระลึกถึงความยอมสละตายของเราแต่เบื้องต้นว่า เราได้ยอมสละตายแล้วมิใช่หรือ ทำไมจึงต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพรรค์นี้ เรื่องเหล่านั้นเขาก็ย่อมเป็นไป ตามกาลเวลาหน้าที่ของเขาต่างหาก ความตายหาได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านั้นไม่ ต่างก็หน้าที่ของตนๆ จนถึงที่สุดด้วยกันทั้งนั้น

ตอนนี้ความรู้สึกของเราที่ยอมสละเรื่องต่างๆ แล้วเข้ามาสงบอยู่ในปัจจุบันธรรม จนไม่มีความรู้สึกว่าเวลาไหนเป็นเวลากลางวัน เวลาไหนเป็นกลางคืน มีแต่ความสว่างจ้าของจิต แล้วสงบอยู่เฉพาะตนคนเดียว

ภายหลัง เมื่อมาตรวจดูกายและจิตของตนเองแล้ว เห็นว่าเรายังไม่แตกดับก่อน หากเราอยู่ ณ ที่นี้ อายตนะผัสสะของเรายังมีอยู่ จำต้องกระทบกับอารมณ์ภายนอกอยู่เรื่อยไป เมื่อกระทบเข้าแล้วก็จะต้องใช้กำลังสมาธิและอุบายปัญญาต่างๆ ต่อสู้กันร่ำไป อย่าเลย เรากลับไปต่อสู้กันที่สนามชัยของเรา (คือที่วัด) ดีกว่า แล้วจึงได้กลับวัดดังได้กล่าวมาแล้ว

ในปี ๒๕๑๕ ได้เริ่มทำการก่อสร้างอุโบสถ ซึ่งรายละเอียดจะได้กล่าวแยกเป็นบทหนึ่งต่างหากต่อไป พร้อมกับขณะที่ทำการก่อสร้างอุโบสถอยู่นี้ ก็ได้ปลูกศาลาบ้านชีอีกหนึ่งหลังทำเป็นเรือนไม้สองชั้น เสาคอนกรีตต่อไม้มุงกระเบื้องลอนเล็กกว้าง ๔ เมตร ยาว ๙ เมตร ข้างล่างทำระเบียงรอบ ข้างละ ๔ เมตร พื้นราดซีเมนต์เสมอกันกับพื้นข้างใน สิ้นเงินไปประมาณ ๗ หมื่นบาทเศษ โดยทุนของวัด

๓๑. พรรษา ๕๑ – ๕๒ จัดเสนาสนะ วังน้ำมอก (พ.ศ.๒๕๑๖ – ๒๕๑๗)

ได้ช่วยย้ายโรงเรียนเก่า บ้านโคกซวก และบ้านพระบาท มาปลูกต่อหลังที่ปลูกใหม่เป็นอาคารไม้ ๔ ห้องเรียน เสาคอนกรีตต่อไม้ สิ้นเงินไป ๘๐,๐๐๐ บาท แต่ยังไม่เสร็จ เพราะหมดทุน

มา พ.ศ.๒๕๑๗ นี้ได้เริ่มทำต่อ โดยเชื่อมหลังใหม่กับหลังเก่าให้ติดกัน แล้วได้กั้นให้เป็นห้องทำงานครูใหญ่ ข้างล่างได้ทำเป็นถังเก็บน้ำฝนเทคอนกรีตเสริมเหล็กโดยยาว ๗ เมตร กว้าง ๖ เมตร สูง ๒ เมตร

ขณะที่กำลังย้ายโรงเรียนอยู่นี้ ได้ไปจัดเสนาสนะขึ้นที่ป่าวังน้ำมอก ซึ่งไกลจากที่วัดหินหมากเป้งไปทิศทางตะวันตกราว ๖ กม. อีกแห่งหนึ่ง เพื่อให้เป็นที่วิเวกของผู้ต้องการเจริญภาวนากัมมัฏฐาน เพราะสถานที่แห่งนั้นยังมีสภาพเป็น ป่า มีถ้ำ เขาและแม่น้ำลำธารสมบูรณ์เป็นที่วิเวกดีอยู่ เพื่อรักษาสภาพของป่าธรรมชาติไว้

๓๒. พรรษา ๕๓ สร้างวัดลุมพินี (พ.ศ.๒๕๑๘)

มีโยมคนหนึ่งถวายที่ที่ตำบลลุมพินี เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ แล้วมีคนอื่นซื้อเพิ่มเติมอีก ทั้งหมดเป็นที่ประมาณ ๑๑ – ๑๒ ไร่ จึงได้ตั้งเป็นสถานที่พักวิเวกอีกแห่งหนึ่ง

วัดลุมพินีนี้ไม่แพ้วังน้ำมอกที่ได้สร้างมาแล้ว เพราะมีอาณาเขตจดแม่น้ำทั้งสี่ทิศ สร้างไว้เพื่อผู้ต้องการวิเวกไปอยู่ เนื่องจากที่วัดหินหมากเป้งบางคราวไม่มีความสงบ

ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๗ มารู้สึกว่า คนทางภาคกลางสนใจมาสมาคมกับวัดต่างๆ ทางภาคอีสานมากขึ้นเป็นลำดับ วัดเราก็พลอยได้ต้อนรับชาวกรุงมากขึ้นด้วย

ในปี ๒๕๑๘ นี้ สมเด็จพระญาณสังวร ได้สนับสนุนพระภิกษุชาวต่างประเทศ ซึ่งได้อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศฯ ให้ออกไปศึกษาธรรมะที่วัดภาคต่างๆ ของเมืองไทยหลายแห่ง และได้ส่งมาจำพรรษาอยู่ที่นี่หลายรูป ท่านก็สนใจและตั้งใจปฏิบัติด้วยกันทุกองค์

[จบ อัตตโนประวัติ หน้า 07 จาก 09]