อัตตโนประวัติ 04
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
[หน้า 04 จาก 09]
๑.ความกดดันของกลียุคทำให้ใจหันเหไปได้เหมือนกัน
ในระยะนี้ บ้านเมืองแถบนี้เกิดโจรขโมยลักโคกระบือ มีอันธพาลเต็มไปหมดทั่วบ้านทั่วเมือง แม้แต่เด็กขนาดอายุราว ๑๐ ขวบ และผู้หญิงก็หัดเป็นขโมยกัน เจ้าหน้าที่อ่อนแอ ชาวบ้านต้องพึ่งตัวเอง แต่ละบ้านต้องเลี้ยงสุนัขเป็นฝูง กลางคืนต้องผลัดเปลี่ยนกันอยู่เวร เมื่อโคกระบือถูกขโมยไป เจ้าของตามไปไถ่ถอน มันจะต้องเรียกค่าไถ่เอาอย่างมันมีเอกสิทธิ์ที่เดียว ถ้าใครใจเด็ดตามล่าเอาอย่างล่าสัตว์ในป่าแล้ว คนนั้นจะค่อยมีความสุขหน่อย การทำแบบนั้นเจ้าหน้าที่ก็ดูเหมือนจะชอบใจและสนับสนุนเสียด้วยซ้ำไป เราตัวนิดเดียวก็อยากดังกับเขาบ้าง แต่มิใช่อยากดังเป็นนักเลงทางขี้ขโมย มันอยากดังด้านปราบขี้ขโมย ในใจมันคิดคำนึงอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรหนอเราจึงจะเหนียวจนคนฆ่าด้วยอาวุธไม่ตาย แล้วจะมาปราบอ้ายเจ้าพวกเหล่านี้ให้ราบคาบไปจนสิ้นซากเสียที
ในขณะนั้นมีพระขี้คุยรูปหนึ่ง (ขอโทษ พูดให้สมเกียรติท่าน) ซึ่งเรากำลังอุปัฏฐากอยู่นั้น ภูมิลำเนาเดิมท่านอยู่บ้านม่วงไข่ เขตอำเภอวานรนิวาส ติดต่อกับอำเภอบึงกาฬ ท่านคงแทงใจเราถูกทีเดียว จึงพูดว่า “ออกพรรษาแล้ว มาไปกับฉัน ที่บ้านฉันมีสารพัดทุกอย่าง ต้องการตะกรุดเอย ว่านเอย หรือสรรพเครื่องคงกระพัน ทุกอย่างฉันมีพร้อม” เราดีใจพร้อมด้วยชายหนุ่มใหญ่สามคน คือ พี่ชายของเราคนหนึ่งกับเพื่อนๆ เขาอีกสองคน สี่ทั้งตัวเราซึ่งเป็นเด็กกว่าเขา ออกพรรษาแล้วได้ติดตามท่านไปจนถึงบ้านเดิมของท่าน พอไปถึงแล้ว ตาย ที่ไหนได้กลายเป็นพระที่เท็จหลอกให้พวกเราไปส่งท่าน ชาวบ้านแถบนั้นไม่มีใครนับถือเลย ท่านบวชแล้วสึก บวชแล้วสึกตั้งหลายครั้ง ตอนหลังสุดได้ทราบข่าวว่า สึกออกไปมีเมียแล้วสูบฝิ่นด้วยทั้งผัวทั้งเมีย สองหนุ่มใหญ่ที่ไปด้วย เขาพยายามอ้อนวอนขอเรียนแลขอของดีต่างๆ ท่านก็พูดกลบเกลื่อนไปๆ มาๆ อ้างโน่นอ้างนี่ แก้ตัวพอพ้นๆ ไป เมื่อถามพระที่อยู่วัดนั้นจึงได้ความจริงว่า ท่านไม่มีของวิเศษวิโสอะไรดอก แต่ท่านเป็นคนช่างพูด
พวกเราอยู่ด้วยท่านราว ๑๐ วัน จึงได้พากันลาท่านกลับด้วยความผิดหวัง ในขณะที่อยู่ด้วยท่านนั้น ท่านจะรบเร้าให้พวกเราหาปลาไหลมาให้ฉันทุกวัน ปลาไหลท่านชอบนัก ปลาอื่นท่านก็ไม่ชอบ พวกเราเดินทางกลับ สามคืนจึงถึงบ้าน โดยเฉพาะตัวเราแล้ว รู้สึกละอายแก่ใจมาก เพราะที่ตั้งเจตนาไว้ว่าออกจากบ้านไปครั้งนี้ จะไปแสวงหาเรียนวิชาคงกระพันเอาให้เชื่อมั่นได้ในใจ ว่าเราจะไม่ยอมตายด้วยศาสตราวุธของคนอื่น แล้วจึงจะกลับบ้าน เมื่อกลับมาถึงบ้าน เพื่อนๆ เขาพากันพูดสัพยอกต่างๆ นานา ยิ่งละอายเขามาก ก็ดีเหมือนกัน มันเป็นเหตุให้เราหายจากความเชื่องมงายในเรื่องเครื่องรางของขลังตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งบัดนี้ ใครจะมาพูดว่าดีอย่างไรๆ ในใจมันเฉยเอาเสียเลย สมัยเมื่อเป็นสามเณร เพื่อนๆ เขามาชวนให้ไปเรียน ขนาดเขาจะออกค่ายกครูให้และรับรองให้ทดลองเอาเลย ใจมันก็ไม่ยอม
นับว่าเป็นโชคดีของเราอย่างหนึ่ง เราเกิดมาในสกุลที่มีศีลธรรมและได้อบรมอยู่ในวัดกับพระที่นับได้ว่าเป็นพระ เมื่อสิ่งแวดล้อมมันบีบบังคับ จึงทำให้ใจของเราหันเหไปในทางที่เลว แต่สิ่งเลวที่เราต้องการนั้นก็ไม่สมประสงค์ หากสิ่งนั้นเป็นไปตามปรารถนาแล้ว ป่านนี้ตัวของเราก็ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร เรียกว่า บุญกรรมนำส่ง หรือบุญวาสนาช่วยรักษาไว้ก็ว่าได้
การออกจากบ้านไปทางไกลในชีวิตของเราครั้งนี้เป็นครั้งแรก ขณะที่เราพากันอยู่บ้านม่วงไข่นั้น กำลังเริ่มข่าวสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะระเบิด ใครมาวัดก็พากันเล่าแต่เรื่องสงคราม เราคิดถึงบ้านน้ำตาร่วงทุกวัน บางวันนอนดึกกว่าจะหลับคิดถึงพ่อแม่มาก เมื่อเรากลับมาถึงบ้านแล้วก็ปฏิบัติพระในวัดเช่นเคย เว้นแต่เราไม่นอนจำวัดประจำ ตอนนี้เราทำหน้าที่เป็นไวยาวัจกรติดต่อพระกับชาวบ้านได้เป็นอย่างดีมาก ชาวบ้านทุกคนก็ดูเหมือนจะชอบใจเรามากขึ้น เพราะใช้เราคล่อง ประกอบด้วยขณะนั้นเรากำลังแตกเนื้อหนุ่ม เขาทั้งใช้ทั้งสัพยอกไปในตัวด้วย เราเข้าวัดสนิทติดต่อกับพระเณรมาเป็นเวลายาวนานประมาณหกปี แต่ไม่เคยมีพระองค์ไหนจะสอนให้เรารักษาศีลห้า ศีลแปด ที่จริงก็น่าเห็นใจเหมือนกัน เพราะพระสงฆ์ในสมัยนั้นขาดการศึกษาเอามากๆ ทีเดียว
๒. พบพระอาจารย์สิงห์
เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม กับ พระอาจารย์คำ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ได้เดินรุกขมูลไปถึงบ้านนาสีดาเป็นองค์แรก ทั้งๆ ที่พระในวัดนั้นก็มีอยู่ แต่ท่านไปขอพักอยู่ด้วย คล้ายๆ กับว่าท่านมุ่งจะไปโปรดเราพร้อมด้วยบิดาเราก็ได้ เมื่อท่านทั้งสองไปถึง เรากับบิดาของเราก็ได้ปฏิบัติท่านด้วยความเคารพและเลื่อมใสเป็นอย่างดียิ่ง เพราะเห็นปฏิปทาของท่านผิดแผกจากพระกัมมัฏฐานคณะอื่น (เมื่อก่อนบิดาของเราเคยปฏิบัติอาจารย์สีทัด) โดยเฉพาะท่านสอนเราในข้อวัตรต่างๆ เช่น สอนให้รู้จักของที่ควรประเคนและไม่ควรประเคน
ท่านสอนภาวนา บริกรรมพุทโธ เป็นอารมณ์ จิตของเรารวมได้เป็นสมาธิ จนไม่อยากพูดกับคนเลย เราได้รับรสชาติแห่งความสงบในกัมมัฏฐานภาวนาเริ่มแรกจากโน่นมาไม่ลืมเลย เมื่อไปเรียนหนังสือเป็นสามเณรอยู่กับหมู่มากๆ เวลากลางคืนอากาศเย็น สงบดี เราทำกัมมัฏฐานของเราอยู่คนเดียวหามีใครรู้ไม่
ท่านมาพักอยู่ด้วยเราราว ๒ เดือนเศษ ทีแรกท่านตั้งใจจะอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น แต่เนื่องด้วยท่านมีเชื้อไข้ป่าอยู่แล้ว พอมาถึงที่นั้นเข้า ไข้ป่าของท่านยิ่งกำเริบขึ้น พอจวนเข้าพรรษาท่านจึงได้ออกไปจำพรรษา ณ ที่วัดร้างบ้านนาบง ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ เราก็ได้ตามท่านไปด้วยในพรรษานั้น ท่านเป็นไข้ตลอดพรรษา ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในเวลาว่างท่านยังได้เมตตาสอนหนังสือและอบรมเราบ้างเป็นครั้งคราว จวนออกพรรษาท่านจะมีความรู้สึกภายในของท่านขึ้นอย่างไรก็ไม่ทราบ ท่านบอกว่า ออกพรรษาแล้วจะต้องกลับบ้านเดิม แล้วท่านถามเราว่า เธอจะไปด้วยไหม ทางไกลและลำบากมากนะ เราตอบท่านทันทีว่า ผมไปด้วยนะครับ ยังอีกไม่กี่วันจะออกพรรษา เราขออนุญาตท่านกลับบ้านไปลาบิดามารดา ท่านทั้งสองมีความดีใจมากที่เราจะไปด้วยอาจารย์ รีบเตรียมดอกไม้ธูปเทียนให้เราเพื่อขอขมาบิดามารดา (ธรรมเนียมอันนี้ท่านสอนเราดีนัก เราหนีจากบ้านไปครั้งก่อน ท่านก็ให้เราทำเช่นนี้เหมือนกัน)
คืนวันนั้นเราขอขมาบิดามารดา แล้วไปขอขมาญาติผู้เฒ่าผู้แก่จนถึงทั่วหมด เมื่อเราไปหาใครทุกคนพากันร้องไห้เหมือนกับเราจะลาไปตายนั่นแหละ เราเองก็ใจอ่อนอดน้ำตาร่วงไม่ได้ รุ่งเช้ามารดาและป้าได้ตามมาส่งถึงอาจารย์ พากันนอนค้างคืนหนึ่ง วันนั้นเป็นวันปวารณาออกพรรษา รุ่งขึ้นฉันจังหันแล้วท่านอาจารย์พาเราออกเดินทางเลย ตอนนี้ป้าและชาวบ้านที่นั่นพากันมารุมร้องไห้อีก
๓. ออกจากบ้านครั้งที่สอง ตามพระอาจารย์สิงห์ไป
อาจเป็นประวัติการณ์ของเด็กคนแรกในจำพวกเด็กวัยเดียวกันในแถบนี้ ที่จากบ้านไปสู่ถิ่นทางไกล ทั้งไร้ญาติขาดมิตรอันเป็นที่อบอุ่นอีกด้วย แล้วก็ดูจะเป็นเด็กคนแรกอีกด้วย ที่ออกเดินรุกขมูลติดตามพระกัมมัฏฐานไปอย่างไม่มีความห่วงใยอาลัยทั้งสิ้น
ออกเดินทางจากท่าบ่อลุยน้ำลุยโคลนบุกป่าฝ่าต้นข้าวตามทุ่งนาไปโดยลำดับ เวลาท่านจับไข้ก็ขึ้นนอนบนขนำนาหรือตามร่มไม้ที่ไม่มีน้ำชื้นแฉะ รุ่งเช้าท่านยังอุตส่าห์ออกไปบิณฑบาตมาเลี้ยงเราเลย เดินทางสามคืนจึงถึงอุดรแล้วพักอยู่วัดมัชฌิมาวาสสิบคืน จึงได้ออกเดินทางต่อไปทางจังหวัดขอนแก่น ผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร
การเดินทางครั้งนี้เราสองคนกับอาจารย์ใช้เวลาเดือนเศษ จึงถึงบ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ อันเป็นบ้านโยมแม่ของท่าน ท่านพักอบรมโยมแม่ของท่าน ณ ที่นั้นราวสามเดือน
๔. บรรพชาเป็นสามเณรแล้วเรียนต่อ
ณ ที่นั้น ท่านให้เราไปบรรพชาที่พระอุปัชฌาย์ลุย บ้านเค็งใหญ่ เมื่ออายุย่างเข้า ๑๘ ปี ตอนนี้เราอ่านหนังสือคล่องขึ้นบ้าง เราได้อ่านหนังสือ ไตรโลกวิตถาร ตอนโลกเสื่อมจนเกิดสัตถันตรกัปป์ ทำให้สลดใจมาก น้ำตาไหลพรากอยู่เป็นเวลาหลายวัน เวลาฉันอาหารก็ไม่ค่อยจะรู้สึกรสชาติ ใจมันให้มัวมีแต่คิดถึงความเสื่อมวิบัติของมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย คล้ายๆ จะมีภาพให้เห็นปรากฏในวันสองวันข้างหน้าอย่างนั้นแหละ
แล้วท่านก็พาเราเข้าไปพักอยู่ วัดสุทัศนาราม ในเมืองอุบลซึ่งเคยเป็นที่พักอยู่เดิมของท่าน แล้วเราก็ได้เข้าเรียนหนังสือไทยต่อที่ โรงเรียนวัดศรีทอง ออกพรรษาแล้วท่านปล่อยให้เราอยู่ ณ ที่นั้นเอง ส่วนตัวท่านได้ออกเที่ยวรุกขมูลกลับมาทางจังหวัดสกลนครอีก เพราะในขณะนั้นคณะของท่านอาจารย์มั่นยังเที่ยวอยู่แถวนั้น คืนก่อนที่จะไปท่านได้ประชุมพระเณร บอกถึงการที่ท่านจะจากไป ขณะนั้นเรารู้สึกอาวรณ์ท่านมาก ถึงกับสะอื้นในที่ประชุมหมู่มากๆ นั้นเอง เรารู้ตัวละอายเพื่อนรีบหนีออกมาข้างนอก แล้วมาตั้งสติใหม่ มาระลึกได้ถึงเรื่องพระอานนท์ร้องไห้เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงปลงพระชนมายุสังขาร จิตจึงค่อยคลายความโศกลงบ้าง แล้วจึงได้เข้าไปในที่ประชุมใหม่ ท่านได้ให้โอวาทด้วยประการต่างๆ เรารู้ตัวดีว่าเราอายุมากแล้วเรียนจะไม่ทันเขา
ขณะที่เรียนหนังสือไทยอยู่นั้น เราได้แบ่งเวลาท่องสวดมนต์ ท่องหลักสูตรนักธรรม เรียนนักธรรมตรีไปด้วย แต่ก็ไม่ได้สอบ เพราะเจ้าคณะมณฑลท่านมีกำหนดว่า ผู้อายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี ไม่ให้สอบนักธรรมตรี ปีที่ ๓ จึงได้สอบนักธรรมตรี และก็สอบได้ในปีนั้น แล้วเราท่องบาลีต่อพร้อมกันนี้ก็ท่องปาฏิโมกข์ไปด้วย เพราะเราชอบปาฏิโมกข์มาก เราเรียนหนังสือไทยจบแค่ประถมบริบูรณ์ (เพราะโรงเรียนรัฐบาลมีแค่ประถม ๓ เท่านั้น)
เมื่อเราออกจากโรงเรียนภาษาไทยแล้ว เราก็ตั้งหน้าเรียนบาลี แต่ในปีการศึกษานั้นบังเอิญพระมหาปิ่น ปัญญาพโล น้องชายของท่านอาจารย์สิงห์ กลับมาจากกรุงเทพฯ มาเปิดสอนนักธรรมโทเป็นปฐมฤกษ์ในมณฑลหัวเมืองภาคอีสาน เราจึงได้สมัครเข้าเรียนด้วย แต่ทั้งบาลีและนักธรรมโทเราเรียนไม่จบ เพราะในศกนั้นอาจารย์สิงห์ท่านได้กลับไปจำพรรษา ณ ที่วัดสุทัศนารามอีก ออกพรรษาแล้วท่านได้พาเราพร้อมด้วยมหาปิ่นออกเที่ยวรุกขมูลก่อนสอบไล่
๕. สามเณรได้เป็นเศรษฐีของรัฐบาล
นั่นคือสามเณรเทสก์ กล่าวคือสมัยนั้นรัฐบาลคิดจะสร้างให้มีเศรษฐีขึ้นในเมืองไทยปีละหนึ่งคน จึงได้ออกล็อตเตอรี่ปีละครั้ง ตั้งรางวัลที่หนึ่งให้เจ็ดแสนบาท พอแก่ฐานะของเศรษฐีเมืองไทยพอดี เพื่อจะได้ไม่อับอายขายหน้าแก่นานาประเทศเขาบ้าง บังเอิญคืนวันหนึ่งสามเณรเทสก์แกนอนไม่หลับ เพราะแกไปถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งเข้า แล้วแกก็ลงมือจัดแจงหาที่สร้างอาคารหลังใหญ่โตมโหฬารเป็นบ้านตึกสามชั้น ตกแต่งด้วยเครื่องเฟอร์นิเจอร์อย่างดีทันสมัย ณ ท่ามกลางย่านการค้า ให้ลูกน้องขนสรรพสินค้ามาใส่เต็มไปหมด ตัวแกมีความสุขกายสบายจิต ไม่คิดอะไรอีกแล้ว นอนเก้าอี้ยาวทำตาปริบๆ มองดูบรรดาสาวๆ สวยๆ ที่พากันเร่เข้ามาหาซื้อสินค้าต่างๆ ตามชอบใจ คนไหนชำเลืองตามาดูแกแล้วยิ้มๆ แกก็จะยิ้มตอบอย่างมีความสุข ในชีวิตของแกแต่เกิดมาได้ ๑๘ – ๑๙ ปีนี้แล้วไม่มีความสุขครั้งไหนจะยิ่งใหญ่ไปกว่าความสุขครั้งนี้เลย แกได้ตำแหน่งเศรษฐีตามความประสงค์ของรัฐบาลแล้วในพริบตาเดียว ทั้งๆ ที่อะไรๆ ของแกก็ยังไม่มีเสียด้วย
แต่อนิจจาเอ๋ยความเป็นเศรษฐีของแกมาพลันเสื่อมสูญไปจากจิตใจของแกอย่างน่าเสียดาย เพราะแกมาสำนึกรู้สึกตนเอาตอนดึกอันเป็นเวลาพักผ่อนหลับนอนเสียแล้วว่า เอ๊ะ นี่อะไรกันล็อตเตอรี่ก็ยังไม่ทันจะออก แล้วยังไม่ทันจะซื้อเสียอีกด้วย ทำจึงมาเป็นเศรษฐีกันเสียแล้วนี่ เรานี่ชักจะบ้าเสียแล้วกระมัง คืนวันนั้นแกเกิดความละอายแก่ใจตนเองอย่างพูดไม่ถูกเสียเลย นี่หากมีท่านผู้รู้มารู้เรื่องของเราเข้าจะว่าอย่างไรกันนี่ แล้วแกก็นอนหลับพักผ่อนไปจนสว่าง พอตื่นเช้ามาแกยังมีความรู้สึกละอายแก่ใจตนเองอยู่เลย โดยที่เรื่องนั้นแกก็มิได้เล่าให้ใครฟัง
เศรษฐีอย่างนี้ใครๆ ก็สามารถจะเป็นได้ มิใช่แต่สามเณรเทสก์คนเดียว แต่ที่ข้าพเจ้าเรียกแกว่าเป็นเศรษฐีนั้น เพียงแต่แกมโนภาพสมบัติอันเหลือหลายอย่างเดียว แต่รู้จักพอ ยังดีกว่าผู้ที่มีทั้งมโนภาพสมบัติและวัตถุสมบัติ แต่ไม่มีความพอแล้วเป็นทุกข์เดือดร้อน มันจะมีประโยชน์อันใดแก่เขาผู้นั้นเล่า ความมีหรือจนอยู่ที่มีความสุขนั้นต่างหาก หาใช่เพราะมีของมากเหลือหลายไม่ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ความพอใจของตนที่มีอยู่แล้วนั้นแลเป็นทรัพย์อันมีค่ามาก เราเลื่อมใสในธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงได้มาบวชแล้วปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ เห็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ลงไปที่ถุงทรัพย์ให้พระอานนท์ดูว่า นั่นอานนท์ ของมีพิษมิใช่จะเป็นพิษแต่แก่สมณะผู้เข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้นก็หาไม่ ถึงแม้คฤหัสถ์ก็ทำให้เกิดพิษได้เหมือนกันถ้านำมาใช้ไม่ถูกต้องตามหน้าที่ของมัน แต่ก็เป็นการจำเป็นที่จะต้องมี เพราะภาวะความเป็นอยู่ผิดแผกแตกต่างจากสมณะ ยิ่งกว่านั้น หากผู้มีทรัพย์แล้วแต่ใช้ทรัพย์นั้นไม่เป็น ก็ไม่ผิดอะไรกับบุคคลผู้ถือดุ้นฟืนที่มีไฟติดข้างหนึ่ง ไฟจะต้องลามมาไหม้มือจนได้
เราบรรพชาได้ ๕ พรรษา จึงได้อุปสมบทเป็นพระ นับว่าได้เปรียบเขามากในด้านอยู่วัดนาน แก่วัด รู้จักเรื่องของวัดได้ดี พระที่บวชรุ่นเดียวกันแล้ว เราได้เปรียบด้านสวดมนต์และได้พระปาฏิโมกข์เป็นต้น
๖. อุปสมบท ณ วัดสุทัศนาราม
เมื่ออายุของเราย่างเข้า ๒๒ ปี เราได้ อุปสมบทที่พัทธสีมา ณ วัดสุทัศน์ นั่นเอง โดย พระมหารัฐ รัฏฐปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นกรรมวาจาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๖๖ ตรงกับ ค่ำ เวลา ๑๑.๔๘ น.
ปีนี้ท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม พระอาจารย์ของเราได้พาคณะรวม ๖ องค์ คือ พระ ๔ องค์ สามเณร ๒ องค์ มาจำพรรษาที่วัดสุทัศน์ นับว่าเป็นปฐมฤกษ์ที่พระกัมมัฏฐานจำพรรษาในเมืองอุบลครั้งแรก เหตุที่ท่านจะกลับมาจำพรรษาที่อุบลก็เนื่องได้ข่าวว่า พระมหาปิ่น (น้องชายท่าน) กลับจากกรุงเทพฯมาอยู่ ณ ที่นั่นท่านตั้งใจจะมาเอาน้องชายของท่านออกเที่ยวรุกขมูลด้วย
เมื่อก่อนที่ท่านมหาปิ่นจะไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯท่านปฏิญาณกับท่านอาจารย์มั่นไว้ว่า ผมไปเรียนหนังสือเสียก่อน แล้วจะออกไปปฏิบัติตามหลัง ท่านอาจารย์สิงห์พอได้ทราบข่าวว่าน้องชายมาแล้วก็ดีใจจึงได้มาจำพรรษา ณ วัดสุทัศนาราม ออกพรรษาหมดเขตกฐินแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ได้พาพวกเราเป็นคณะใหญ่ออกเดินธุดงค์ การออกเดินธุดงค์ครั้งนี้ผู้ที่ออกใหม่นอกจากพระมหาปิ่นกับเราแล้ว ยังมีพระคำพวย พระทอน และสามเณรอีก ๒ รูป รวมทั้งหมดแล้ว ๑๒ รูปด้วยกัน (พระมหาปิ่นปัญญาพโล ป.ธ.๕ นับว่าเป็นพระมหาองค์แรกในเมืองไทยที่ออกธุดงค์ในยุคนั้น ในหมู่พระเปรียญโดยมากเขาถือกันว่าการออกธุดงค์เป็นเรื่องขายขี้หน้า การออกธุดงค์ของเราครั้งนี้ถ้าไม่ได้ท่านอาจารย์สิงห์เป็นผู้นำแล้ว เราคงไม่ได้ออกธุดงค์ เมื่อเราหนีมาแล้วท่านพระอุปัชฌาย์ท่านต้องสวดปาฏิโมกข์เอง)
๗. เราพึ่งรู้จักรสชาติของความอาลัยครั้งแรก
เราได้ไปอยู่วัดสุทัศน์ อุบล เป็นเวลา ๖ ปีเต็ม โดยที่ปราศจากญาติมิตรและคนสนิทมาก่อน เมื่ออยู่ต่อมาได้มีคนเอาลูกหลานมาฝากให้เป็นศิษย์อยู่ด้วย รวม ๔ คนด้วยกัน คือ เป็นสามเณร ๒ เป็นเด็ก ๒ เขาเหล่านั้นได้อยู่ด้วยเรามาแต่เมื่อครั้งเรายังเป็นเณรอยู่ จนกระทั่งเราได้อุปสมบทเป็นพระทั้งเราและเขาถือกันอย่างพ่อกับลูก
พอตอนเราจะจากเขาไปเขาพากันร้องไห้อาลัยเรา เราก็แทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่เหมือนกัน แต่เราเป็นอาจารย์เราจะร้องไห้ก็ละอายเขา จึงกัดฟันอดกลั้นไม่แสดงความอาลัยออกมา แต่ถึงกระนั้นมันก็ทำให้เสียงเครือไปเหมือนกัน ตอนนี้ไม่สู้กระไรนัก พอออกเดินทางไปแล้วนั่นซี มันทำให้เราซึมเซ่อไปเป็นเวลานานทีเดียว จะเดิน ยืน นั่ง นอน แม้แต่พูดและฉันอยู่ก็ตาม ใจมันละห้อยอาลัยคิดถึงเขาว่าเขาจะอยู่อย่างไร กินอะไร อดอิ่มอย่างไร แล้วใครจะมาสั่งสอนเขา หรือจะมีใครมากดขี่ข่มเหงเบียดเบียนเขาอย่างไร ความกลุ้มใจอย่างนี้ยังไม่เคยมีมาเลยในชีวิตของเราครั้งนี้เป็นครั้งแรก
เราจึงได้ทบทวนคิดค้นไปมาว่า เขาเหล่านั้นก็มิใช่ลูกหลานว่านเครือของเรา เป็นแต่เขามาอยู่อาศัยเราเท่านั้น อนึ่งเราก็ได้อบรมเขาและคุ้มครองเขาเป็นอย่างดีที่สุดแล้ว เท่าที่เราสามารถจะทำได้ ทำไมจึงอาลัยอาวรณ์ถึงเขาหนักหนา มาตอนนี้มันให้ระลึกถึงผู้ที่มีบุตรมีภรรยาว่า โอ้โฮ หากเป็นบุตรที่เกิดโดยสายเลือดของเราแล้ว ความอาลัยมันจะหนักขนาดไหน เราเห็นโทษในความอาลัยในครั้งนี้ มันซาบซึ้งเข้าไปตรึงหัวใจของเราไม่มีวันหายเลย มนุษย์เรานี้ไม่มีผิดอะไรกับลูกลิง ซึ่งปราศจากแม่แล้วอยู่ตามลำพังตัวเดียวไม่ได้ มันทำให้เรากลัวความอาลัยจนแทบพูดไม่ถูกเอาเสียเลย ความอาลัยเป็นทุกข์ทั้งที่มีอยู่และพลัดพรากจากกันไป ทำอย่างไรคนเราจึงจะทำให้เป็นอิสระในตัวของตนเองได้เล่า
๘. ออกจากอุบลเป็นคณะเที่ยวรุกขมูล
คณะของเราพระ ๘ สามเณร ๔ รวมเป็น ๑๒ รูป โดยพระอาจารย์สิงห์เป็นหัวหน้า ได้เดินทางออกจากเมืองอุบลในระหว่างเดือน ๑๒ ได้พักแรมมาโดยลำดับ จนถึงบ้านหัวตะพาน หยุดพักที่นั่นนานพอควร แล้วย้ายไปพักที่บ้านหัวงัว เตรียมเครื่องบริขารพร้อมแล้ว จึงได้ออกเดินรุกขมูลต่อไป
การออกเดินรุกขมูลครั้งนี้ ถึงแม้จะไม่ได้วิเวกเท่าที่ควร เพราะเดินด้วยกันเป็นคณะใหญ่ แต่ก็ได้รับรสชาติของการออกเที่ยวรุกขมูลพอน่าดูเหมือนกัน กล่าวคือ คืนวันหนึ่งพอจัดที่พักแขวนกลดกางกลดตกมุ้งไหว้พระสวดมนต์เรียบร้อยแล้ว ฝนตกเทลงมาพร้อมด้วยลมพายุอย่างแรงนอนไม่ได้ นั่งอยู่น้ำยังท่วมก้นเลย พากันหอบเครื่องบริขารหนีเข้าไปอาศัยวัดบ้านเขา แถมยังหลงทางเข้าบ้านไม่ถูก เดินวกไปเวียนมาใกล้ๆ ริมบ้านนั้นตั้งหลายชั่วโมง
พอดีถึงวัด ณ ที่นั้นมีโยมเข้าไปนอนอยู่ก่อน คือโยมที่เขาเดินทางมาด้วย ๖ คน เขามีธุระการค้าของเขา แต่เขาเห็นก้อนเมฆในตอนเย็น เขาบอกว่าพวกผมไม่นอนละ จะเข้าไปพักในบ้านพอพวกเราไปถึงเข้า เขาจึงช่วยจัดหาที่นอนตามมีตามได้หมอนเสื่ออะไรก็ไม่มีทั้งนั้น แล้วจึงรีบกลับไปรับอาจารย์กับพวกเพื่อนอีก ๗ – ๘ รูป พอถึงเก็บบริขารเรียบร้อยแล้วก็นอนเฉยๆ ไปอย่างนั้น เพราะกุฏิก็เปียกไปหมดทั่วทั้งห้อง เสื่อหมอนก็ไม่มีเพราะเป็นวัดร้าง แต่เมื่อความเหนื่อยเพลียมาถึงเข้าแล้วก็นอนหลับได้ชั่วครู่หนึ่งทั้งๆ ที่นอนเปียกๆ อยู่นั่นเอง แถมรุ่งเช้าบิณฑบาตก็ไม่ได้อาหาร ได้กล้วยน้ำว่ากับข้าวสุก ฉันข้าวกับกล้วยคนละใบ แล้วก็ออกเดินทางต่อ
ท่านอาจารย์พาพวกเราบุกป่าฝ่าดงมาทางร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ผ่านดงลิงมาออกอำเภอสหัสขันธ์ เข้าเขตกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี แต่ไม่ได้เข้าในเมือง เว้นไปพักอยู่บ้านเชียงพิณตะวันตกของอุดร เพื่อรอการมาจากกรุงเทพฯ ของเจ้าคณะมณฑล การที่ท่านให้พวกเรามารออยู่ที่อุดรครั้งนี้ ท่านมีจุดประสงค์อยากให้พระมหาปิ่นมาประจำอยู่ที่อุดร เพราะที่อุดรยังไม่มีคณะธรรมยุต แต่ที่ไหนได้ เมื่อเจ้าคณะมณฑลมาจากกรุงเทพฯ ครั้งนี้ พระยาราชนุกูล (ทีหลังเป็นพระยามุขมนตรี) ได้นิมนต์พระมหาจูมพันธุโล (ภายหลังเป็นพระธรรมเจดีย์) มาพร้อมเพื่อจะให้มาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ที่อุดร ฉะนั้นเมื่อเจ้าคณะมณฑลมาถึงแล้วพวกเราจึงไปกราบนมัสการท่าน ท่านจึงได้เปลี่ยนโปรแกรมใหม่ จะเอาพระมหาปิ่นไปไว้สกลนคร แล้วจะให้เราอยู่ด้วยพระมหาจูม เพราะทางนี้ก็ไม่มีใครและเธอก็คนทางเดียวกัน อนึ่งเธอก็ได้เรียนมาบ้างแล้วจงอยู่บริหารหมู่คน ช่วยดูแลกิจการคณะสงฆ์ด้วยกัน เราได้ถือโอกาสกราบเรียนท่านว่า กระผมขอออกปฏิบัติเพื่อฉลองพระเดชพระคุณ เพราะผู้ปฏิบัติมีน้อยหายาก ส่วนพระปริยัติและผู้บริหารมีมากพอจะหาได้ไม่ยากนัก ท่านก็อนุญาตแล้วแนะให้เราอยู่ช่วยพระมหาปิ่น
๙. พบท่านอาจารย์มั่นครั้งแรก
เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ได้พาพวกเราออกเดินทางไปนมัสการกราบท่านอาจารย์มั่น ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ ขณะนั้นพระอาจารย์เสาร์ก็อยู่พร้อม เป็นอันว่าเราได้พบท่านอาจารย์ทั้งสองแลได้กราบนมัสการท่านเป็นครั้งแรกในชีวิต
ตกกลางคืนท่านอาจารย์มั่นได้เทศนาอบรมพวกเราด้วยความเต็มอกเต็มใจในการที่ได้เห็นพวกเราเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะแล้วได้เห็นพระมหาปิ่นผู้ซึ่งได้เคยปฏิญาณตนไว้ก่อนจะไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ เมื่อท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาของท่านอาจารย์มั่นพร้อมกันกับพระอาจารย์สิงห์ที่เมืองอุบลว่า ผมไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ก่อน จึงจะออกปฏิบัติตามท่านอาจารย์มั่นภายหลัง ส่วนตัวของเรานั้น ท่านคงได้ทราบจากท่านอาจารย์สิงห์เล่าให้ฟัง นอกจากนี้แล้วท่านคงไม่ทราบ
คืนวันนั้นเสร็จจากการอบรมแล้วท่านก็สนทนาธรรมสากัจฉากันตามสมควร จบด้วยการพยากรณ์พระมหาปิ่นแลตัวของเราในด้านความสามารถต่างๆ นานา ตอนนี้ทำให้เรากระดากใจตนเองในท่ามกลางหมู่เพื่อนเป็นอย่างยิ่ง เพราะตัวของเราเองพึ่งบวชใหม่แลมองดูตัวเราแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรพอที่ท่านจะสนใจในตัวของเรา ความจริงตั้งแต่ตอนเย็น พอย่างเข้ามาในเขตวัดของท่าน มันทำให้เราขวยเขินอยู่แล้ว แต่คนอื่นเราไม่ทราบ เพราะเห็นสถานที่แลความเป็นอยู่ของพระเณรตลอดถึงโยมในวัด เขาช่างสุภาพเรียบร้อยนี่กระไร ต่างก็มีกิจวัตรและข้อวัตรประจำวันของตนๆ พอท่านพยากรณ์พระมหาปิ่นแล้วมาพยากรณ์เราเข้า ยิ่งทำให้เรากระดากใจยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ แต่พระมหาปิ่นคงไม่มีความรู้สึกอะไรนอกจากท่านจะตรวจดูความสามารถของท่านเทียบกับคำพยากรณ์เท่านั้น
รุ่งเช้าฉันจังหันแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ได้พาคณะของเราเดินทางต่อไปบ้านนาสีดา ได้พาพักอยู่ ณ ที่นั่นสี่คืนแล้วย้อนกลับทางเดิม มาพักที่ท่านอาจารย์มั่นอีกหนึ่งคืน จึงเดินทางกลับอุดร แล้วได้เดินทางต่อไปสกลนครตามที่ได้ตกลงกันไว้กับเจ้าคณะมณฑล แต่กิจการนั้นไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ของเจ้าคณะมณฑล เพราะพระมหาปิ่นอาพาธไม่สามารถจะไปรับหน้าที่ที่มอบหมายให้ได้ ฉะนั้นในพรรษานั้น ท่านอาจารย์สิงห์จึงได้พาคณะเราไปจำพรรษาที่วัดป่าหนองลาด เรื่องนี้ทำให้เจ้าคณะมณฑลไม่พอใจอย่างยิ่ง จึงได้เอาพระบุญ นักธรรมเอกไปไว้ที่สกลนครต่อไป
๑๐. พรรษา ๒ จำพรรษาบ้านหนองลาด (พ.ศ.๒๔๖๗)
ก่อนเข้าพรรษาเราได้พระกลมชาวจังหวัดเลยเป็นกัลยาณมิตรดีมาก ขึ้นไปทำความเพียรที่ถ้ำพวง บนภูเหล็กสองครั้ง ครั้งที่หนึ่งสี่คืน ครั้งที่สองหกคืน โดยมีผู้ใหญ่บ้านอ่อนสี (ภายหลังเป็นกำนันขุนประจักษ์ แล้วบวชพระ มรณภาพในเพศสมณะนั้นเอง) ได้ส่งคนให้ขึ้นไปจัดอาหารถวายเป็นประจำ เราได้จารึกพระคุณของแกไว้ในใจไม่รู้หายเลยจนกระทั่งบัดนี้
ผู้ใหญ่บ้านคนนี้ท่านอาจารย์มั่นทักว่าเป็นคนฉลาดแคล่วคล่องทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นด้านคำพูดปฏิภาณโต้ตอบและการงานตลอดถึงการสังคม ทันกับเหตุการณ์แลสมัยทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับฝ่ายพระแล้วยกให้แกเลย ไม่ว่าจะต้องการอะไร ไม่ถึงกับพูดตรงๆ ดอก พอปรารภเท่านั้นแกจัดการให้เรียบร้อยเลย พวกเราได้สัปปายะครบทั้งสี่แล้วก็เริ่มประกอบความเพียรอย่างสุดเหวี่ยง ยิ่งทำความเพียรก็ยิ่งระลึกถึงคุณของผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านเป็นกำลัง อาหารพริกแห้งผงกับข้าวเหนียววันละหนึ่งก้อนเท่าผลมะตูม เราอยู่ได้พอทำความเพียรไม่ตาย
เมื่อเราลดอาหารแต่มาเพิ่มความเพียร กายเราเบา สติเราดี สมาธิเราก็ไม่ยาก เราปรารภความเพียรมาก สติของเราก็ดีขึ้นแลมั่นคงดี เราหัดสติอยู่ ณ ที่นั้นเอาให้สม่ำเสมอตลอดทั้งกลางวันกลางคืน มิให้เผลอส่งออกไปตามอารมณ์ภายนอกได้ ให้ตั้งมั่นอยู่ที่กายที่ใจแห่งเดียว แม้ก่อนนอนหลับตั้งไว้อย่างไรตื่นขึ้นมาก็ให้อยู่อย่างนั้น จะมีเผลออยู่บ้างก็ตอนฉันอาหาร
เมื่อปรารภความเพียรมากเท่าไร การระลึกถึงคุณของชาวบ้านก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นเงาตามมา เรารู้ตัวดีว่าเราเป็นพระ ชีวิตของเราฝากไว้กับชาวบ้าน ฉะนั้นเราจะปรารภความเพียรเพื่อใช้หนี้บุญคุณของชาวบ้าน แล้วเราก็แน่ใจตนเองว่า เรามาทำความเพียรครั้งนี้ เราได้ทำหน้าที่ของลูกหนี้อย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว
จวนเข้าพรรษาจึงได้ไปจำพรรษาร่วมกับท่านอาจารย์สิงห์ ที่บ้านป่าหนองลาด ในพรรษานี้เราเป็นพระใหม่ไม่ต้องรับภาระอะไรนอกจากจะประกอบอาจริยวัตร แล้วก็ปรารภความเพียรเท่านั้น ท่านอาจารย์เองก็อนุญาตให้พวกเราเป็นพิเศษ เราได้ประกอบความเพียรตามแนวนโยบายที่เราได้กระทำมาแต่บนภูเขาตลอดพรรษา แล้วยังได้ประกอบแบบโยคะเพื่อทดลองเพิ่มเติมอีกด้วย กล่าวคือฉันอาหารผ่อน ตั้งแต่ ๗๐ คำข้าวเหนียวลงมาจนถึง ๓ คำ แล้วเขยิบขึ้นไปถึง ๓๐ คำแล้วก็ผ่อนลงมาถึง ๕ คำ ไปๆ มาๆ อย่างนี้เป็นระยะๆ ๓ – ๔ วัน ทำอย่างนี้อยู่ตลอดพรรษา แต่ระยะที่ยาวนานกว่าเขาหน่อยคือ ๑๕ คำ แล้วก็ฉันแต่อาหารมังสวิรัติด้วย ร่างกายของเราผอมอยู่แล้วก็ยิ่งซูบซีดลงไปอีก จนเป็นที่แปลกตาของชาวบ้าน ใครๆ เห็นก็ถามว่าเป็นอะไรไปหรือ แต่เราก็มีกำลังใจประกอบข้อวัตรและทำความเพียรได้เป็นปกติ
พอออกพรรษาเราจึงเริ่มฉันอาหารเนื้อปลา แต่แหม! มันคาวนี่กระไร มนุษย์คนเรานี้กินเนื้อเขา เอามาเป็นเนื้อของเรา เหมือนกับไปฉกขโมยของสกปรกเขามากินอย่างนั้นแหละ เทพยาดาทั้งหลายจึงเข้าใกล้มนุษย์ไม่ได้ มันเหม็นสาบ แต่มนุษย์ทั้งหลายก็ยังกอดชมซากศพกันอยู่ได้ ออกพรรษาแล้ว เราสองรูปกับท่านอาจารย์สิงห์ได้ขึ้นไปอีกคราวนี้อยู่ ๙ คืน ท่านอาจารย์สิงห์อาพาธได้ให้ไปตามพรรคพวกขึ้นมา เมื่อเห็นว่าที่นั้นมันไม่สะดวกแก่การพยาบาลกัน จึงได้อพยพกันลงมาพักรักษาตัวอยู่ ณ ป่าหนองบัว (บัดนี้เป็นบ้านแล้ว) พอดีท่านอาจารย์มั่นสั่งให้เราเดินทางไปพบท่านที่อำเภอท่าบ่อ เราจึงได้ลาท่านอาจารย์สิงห์ไปตามคำสั่งของท่าน พอดีมาพบท่านอาจารย์มั่นกับพระอาจารย์เสาร์ซึ่งได้รับนิมนต์จากวัดโพธิสมรณ์ อุดรฯ
ขณะนั้นคุณยายน้อย (มารดาพระยาราชนุกูล) มาในงานผูกพัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ คุณยายน้อยได้พบและฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่นครั้งนี้เป็นครั้งแรก เกิดความเลื่อมใสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เราได้อยู่ร่วมท่านอาจารย์มั่นเป็นเวลาหลายวันแล้วเดินทางกลับท่าบ่อพร้อมท่าน
๑๑. พรรษา ๓ จำพรรษาบ้านนาช้างน้ำ (พ.ศ.๒๔๖๘)
พรรษานี้เราได้จำพรรษาที่บ้านนาช้างน้ำ ซึ่งไม่ไกลจากท่าบ่อที่ท่านอาจารย์มั่นอยู่ เรากับพระอาจารย์อุ่นได้หมั่นมาฟังท่านเทศน์เสมอ พรรษานี้เราก็ไม่มีภาระอะไรนอกจากจะปรารภความเพียรเฉพาะส่วนตัวเท่านั้น ภาระอื่นๆ มีการรับแขก เป็นต้น เราได้มอบท่านอาจารย์อุ่นทั้งหมด เพราะท่านเคยเป็นอาจารย์เขามาแล้ว ท่านเคยบวชมหานิกายมาได้ ๙ พรรษา เพิ่งมาญัตติฝ่ายคณะธรรมยุตนี่เอง
ในพรรษานี้มีสิ่งที่น่าสลดใจสังเวชอยู่เรื่องหนึ่ง คือ พระอาจารย์ทา ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่แล้วก็ดูเหมือนจะเป็นลูกศิษย์คนแรกของท่านอาจารย์มั่นเสียด้วย ถ้าจำไม่ผิดพรรษาราว ๑๖ – ๑๗ พรรษานี่แหละ เดิมท่านไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ แต่ไม่สำเร็จ พอท่านได้ทราบกิตติศัพท์ของท่านอาจารย์มั่น ซึ่งเจ้าคุณพระอุบาลีฯ (จันทร์ สิริจันโท) สรรเสริญจึงได้ออกติดตามท่านมา ในพรรษานั้นท่านได้ไปจำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย กับอาจารย์ขันธ์ ท่านเกิดสัญญาวิปลาสหนีมาหาท่านอาจารย์มั่นกลางพรรษา บอกว่า ท่านเองต้องอาบัติถึงที่สุดแล้วร้อนไปหมดทั้งตัว เห็นผ้าเหลืองเป็นฟืนเป็นไฟไปหมด เมื่อซักไซ้ไล่เลียงไปในสิ่งที่ว่าผิดนั้นก็ไม่มีมูลความจริงสักอย่าง เป็นแต่ตัวเองสงสัยสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็เดือดร้อนเองเท่านั้น
สิ่งหนึ่งซึ่งท่านเดือดร้อนมากก็คือ เมื่อท่านไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านโพนสว่าง สมาธิมีกำลัง ทำให้สว่างไสวมาก จะคิดค้นพิจารณาธรรมหมวดใดก็ดูเหมือนหมดจดไปหมดแล้วลงสู่ที่ใจแห่งเดียว แล้วตัดสินใจตนเองว่า เราถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์แล้ว จนปฏิญาณตนในท่ามกลางสงฆ์เอาเสียเลย ต่อมาอาการนั้นเสื่อมไปเลยสงสัยตนว่า เราอวดอุตริมนุสสธรรม เป็นอาบัติถึงที่สุดแล้ว ถึงแม้จะมีผู้อธิบายให้ฟังว่า เราพูดด้วยความสำคัญผิด พระวินัยมิได้ปรับโทษดอก ท่านก็ไม่เชื่อ ความจริงความวิปฏิสารเดือดร้อนอันนี้ท่านมีหลายปีแล้ว แต่ก็พออดทนอยู่มาได้ พอมาถึงพรรษานี้จึงเหลือทน มีแต่จะสึกอย่างเดียว ท่านอาจารย์มั่นก็แก้ไม่ไหวจึงทิ้งไป ให้อยู่ด้วยท่านอาจารย์เสาร์ ปีต่อมาท่านอาจารย์เสาร์ก็เอาไม่อยู่ ผลที่สุดสึกจนได้ สึกแล้วก็หายเข้ากลีบเมฆกลีบฟ้าไปไหนก็ไม่รู้ไม่มีใครทราบจนบัดนี้
เราได้เห็นเข้าแล้วทำให้ใจหดหู่เกิดสลดสังเวชในใจว่า แม้ท่านเป็นผู้ใหญ่ปฏิบัติมานานถึงขนาดนี้ ยังเกิดวิปลาสไปได้ ตัวของเราเล่าจะทำอย่างไร จึงจะพ้นจากความวิปลาสนี้ไปได้ คิดแล้วก็นึกหวาดเกรงตนเอง แล้วได้นำเอาความวิตกนั้นไปกราบเรียนท่านอาจารย์มั่น ท่านบอกว่า นั่นซี ต้องระวังตนเองและอย่าห่างไกลท่านผู้รู้ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นรีบไปปรึกษาหารือกับท่าน ออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์มั่นพร้อมด้วยคณะได้ออกเดินทางลงไปทางสกลนคร
๑๑.๑ กลับไปสงเคราะห์โยมแม่ อาว์ พี่ชาย
ตัวเราคิดถึงโยมแม่ จึงได้กลับไปบ้านเพื่อสงเคราะห์ก็สมประสงค์ คือได้แนะนำให้ท่านนุ่งขาว รักษาศีล ๘ ครั้งนี้โยมป้า อาว์ผู้ชายแลพี่ชายก็เกิดศรัทธา ได้พากันนุ่งขาว รักษาศีล ๘ ด้วย โดยเฉพาะพี่ชายซึ่งได้มีครอบครัวแล้ว มีบุตรคนหนึ่งอายุไม่กี่เดือนก็ได้ออกบวชด้วย เพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้สมาคมกับหมู่เพื่อนและอบรมกับครูบาอาจารย์หลายองค์ด้วย จึงให้ออกจากบ้านเดินทางตามครูบาอาจารย์ไป ส่วนเรากับพี่ชายและอาว์ผู้ชายได้ตามไปทีหลัง ได้ตามไปทันกันที่บ้านปลาโหล อำเภอพรรณานิคม ซึ่งท่านอาจารย์สิงห์จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้นแล้วท่านได้พาพวกเราไปตั้งสำนักที่บ้านอากาศอำนวย อยู่ไม่นานท่านอาจารย์มั่นได้ตามไปถึง แล้วท่านให้เราตามท่านไปตั้งสำนักที่บ้านสามผง การอยู่ใกล้ผู้ใหญ่ดีมาก มีสติระวังตัวอยู่ตลอดเวลา
วันหนึ่งสามเณรผู้ที่ปฏิบัติท่านไม่อยู่ เราจึงได้ไปนอนที่ระเบียงกุฏิของท่านอาจารย์แทนสามเณร ปกติท่านอาจารย์มักตื่นนอนทำความเพียรเวลาตี ๓ ทุกคืน เวลาท่านตื่นหยิบไม้ขีดไฟก๊อกแก๊ก เราต้องลุกก่อนท่านทุกทีเพื่อเข้าไปถวายการปฏิบัติท่าน เราไปนอนอยู่หลายคืนจนท่านแปลกใจถามเราว่า ท่านเทสก์ไม่นอนหรือ เราตอบว่า นอนอยู่ครับ ในที่นั้นโรคของเราไม่ถูกกับอากาศ ฉันได้ แต่ไม่มีกำลัง ปวดเมื่อยระบบไปหมดทั้งตัวตลอดเวลา แต่ความเพียรของเราไม่ท้อถอย ฉันแล้วเข้าป่าหาที่วิเวกทำความสงบอยู่คนเดียวตลอด กลางวันกลางคืนเดินจงกรม แล้วขึ้นฟังเทศน์ตั้งแต่ ๒ ทุ่ม จนถึง ๔ ทุ่ม ถ้าวันไหนมีพระมากท่านก็เทศน์จนถึง ๖ ทุ่ม หรือ ตี ๒ จึงเลิก ท่านอุตส่าห์เทศน์อบรมอยู่อย่างนี้เป็นนิจ บรรดาลูกศิษย์ก็มีกำลังใจกล้าหาญทำความเพียรอยู่เช่นเดียวกัน หลังจากท่านอาจารย์มั่นไปแล้ว ท่านอาจารย์เสาร์ไปอยู่แทน ๓ พรรษา ได้ข่าวว่าพระไปมรณภาพที่นั่นหลายองค์ พระอาจารย์ภูมีก็ไปตายคืน ณ ที่นั้นเหมือนกัน
[จบ อัตตโนประวัติ หน้า 04 จาก 09]