75. ตักเตือนการอยู่ร่วมกัน

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

๗๕. ตักเตือนการอยู่ร่วมกัน
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒

วันพรุ่งนี้เป็นวันเข้าพรรษา พระที่วัดไปจำพรรษาในที่ต่างๆนั้น บางทีอาจจะไม่ถูกนิสัยไม่พอใจก็มี บางทีอาจถูกนิสัยพอใจก็มี มันเป็นธรรมดาของโลกอันนี้ จะให้มันถูกนิสัยทั้งหมด มันไม่ถูกหรอก มันต่างคนต่างมีทิฏฐิมานะ ต่างคนต่างมีกิเลส เพราะฉะนั้นอยู่ทางโลกก็เหมือนกัน มาในทางธรรมนี่ก็เหมือนกัน มันต้องอดต้องทน

พระพุทธเจ้าท่านถึงทรงสอนให้อดให้ทน การอดทนนั่นเป็นตะปะอย่างยิ่ง เป็นการบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าอดทนเป็นนะ ถ้าอดไม่เป็นมันเดือดร้อน ถ้าอดเป็นมันเป็นเรื่องบูชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไปในตัว นั่นแหละการทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าน่ะมันถูกแล้ว

สิ่งทั้งปวงหมดจะให้มันถูกใจ มันไม่ถูกหรอก ต่างคนต่างมีทิฏฐิ ต่างคนต่างมีมานะ ต่างคนต่างมีกิเลส ทุกคนไม่เหมือนกัน เราทำอย่างนี้คนอื่นไม่ชอบ คนอื่นทำอย่างนั้นเราไม่ชอบ คนอื่นชอบทำอย่างนั้นคนอื่นก็ไม่ชอบ เขาไม่ชอบเรา เราก็ไม่ชอบเขา เอากองกิเลสมากองกันพะเนินเทินทึก มากมายเหลือเกิน จะทำอย่างไรจึงจะหมดกิเลสอันนี้ ให้อดให้กลั้นมันถูกธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า

การที่ตักเตือนสั่งสอนซึ่งกันและกันเป็นการดี ทางธรรมมันถูกต้องรู้จักอลุ่มอล่วย รู้จักสามัคคีปรองดองเมตตากัน มีการเมตตาปราณีสงสารซึ่งกันและกันนั้นมันถูก เขาทำผิด เราทำผิด คนอื่นทำผิด ก็คิดว่าบางทีมันพลั้งเผลอ บางทีมันหลงลืม อาจจะหลงลืมก็ได้

ฉะนั้น การจะเตือนคนอื่นให้ระมัดระวัง อย่าไปเอาแต่ใจตนเอง พูดโพเพไปแม้เราพูดด้วยเจตนาดี พูดออกไปมันไม่เป็นกิเลส แต่บางทีมันเป็นกิเลสได้ ถ้าหากว่าพูดโพเพออกไปทีเดียว จึงให้พิจารณาให้มันรอบคอบด้านเสียก่อน มันสมควรกาลเวลาอย่างไร จึงควรพูดจึงควรสอน

อย่างว่าเราพูดกับผู้หลักผู้ใหญ่ว่าสิ่งนั้นควรไหม? สิ่งนี้ควรไหม? คำว่า “ควร” นั่นเป็นคำอ่อนน้อมยอม ยอมสารภาพไปในตัว

คำพูดมันมีหลายอย่าง บังคับก็มี บังคับโดยอนุมานก็มี โดยขอร้องก็มี โดยรำพึงก็มี มันมีหลายอย่าง

บังคับ นั่น มันบังคับโดยตรง จงทำอย่างนั้น จงทำอย่างนี้ นั่นเรียกว่าบังคับโดยตรง

รำพึง นั่น ควรทำอย่างนั้นดีไหม? นั่นเป็นการรำพึง

มันหลายเรื่องหลายอย่าง เราต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน เอาเท่านี้ละ

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 75. ตักเตือนการอยู่ร่วมกัน]