73. การพิจารณากัมมัฏฐาน
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
พิจารณาเหตุผล…เกิดความสลดสังเวชในตัวของตน ที่ได้ของไม่ดี ที่ได้ของไม่เที่ยง ที่ได้ก้อนทุกข์
๗๓. การพิจารณากัมมัฏฐาน
วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๒
พวกเราได้ชื่อว่ากัมมัฏฐาน ให้มาปฏิบัติในแนวนี้ ปฏิบัติในทำนองเดียวกันเรียกว่าพวกกัมมัฏฐาน มันมีอะไรเป็นเครื่องวัดกัมมัฏฐาน? ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร อยู่ป่าเป็นวัตรฯ นั่นเป็นเครื่องวัด เครื่องแสดงของภายนอก
กัมมัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งมั่นคง ถ้าไม่มั่นคงไม่มีที่ตั้ง การงานอะไรต่างๆสิ่งภายนอกที่เขาทำ ที่เขาตั้งใจจริงๆนั่นแหละมาจากอันนั้น แต่เราไม่ได้ทำการภายนอกเหมือนอย่างของฆราวาส เราทำกิจทางศาสนา ทางศีลก็ดี ทางสมาธิก็ดี ทางปัญญาก็ดี ทำให้หนักแน่นให้มั่งคง จึงเรียกว่ากัมมัฎฐาน เราสังเกตดูว่า ที่เราทำเวลานี้มีอะไรเป็นเครื่องวัด? เป็นกัมมัฏฐานแล้วหรือยัง? มีอะไรเป็นเครื่องบกพร่อง? ให้รู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ ถ้าไม่คิดไม่พิจารณาไม่ค้นคว้าก็ไม่รู้เรื่อง
การพิจารณา “กัมมัฏฐาน” นี้ใช้อะไรก็ได้ ขอให้ตั้งมั่นคงก็แล้วกัน จะเอาพุทโธหรืออานาปานสติ กายคตาสติ อันเดียวกันหมดนั่นแหละ หรืออย่างเขาว่ายุบหนอพองหนอ หรือสัมมาอรหัง ก็เพื่อตั้งให้มั่นทำให้มั่นคงให้หนักแน่น เมื่อจิตมั่นคงหนักแน่นได้แล้ว ก็เป็นกัมมัฏฐานทั้งหมด เมื่อจิตไม่หนักแน่นก็คลอนแคลน เห็นใครว่าอันไหนดีก็ตามไปเรื่อย คว้านั่นคว้านี่ก็เลยไม่ได้รับประทานสักอย่าง ผลที่สุดก็เหลวแหลกหมด กัมมัฎฐานแตก กัมมัฏฐานอยู่อันเดียว เมื่อเราพิจารณาสิ่งใด ให้ตั้งมั่นพิจารณาลงในสิ่งเดียวก่อน
สมถะ คือความสงบ ให้ทำความสงบจริงๆเสียก่อน มันจะรู้เรื่องหรอกว่าสมถะเป็นอย่างไร? วิปัสนาเป็นอย่างไร? แต่ความสงบเราก็ยังไม่ได้ จะไปโทษว่าความสงบไม่เกิดปัญญา ไม่ได้ จึงว่าความสงบนั้นทำให้มันมาก อบรมให้มันมาก เป็นแล้วก็ให้มันเป็นอยู่ตลอดเวลา ทั้งกลางคืนกลางวัน ถึงไม่ได้กลางวันก็ให้ได้กลางคืน ถึงไม่ได้วันหนึ่ง อย่างน้อยในวันหนึ่งให้ได้สักทีหนึ่งก็ยังดีอยู่ อันนี้ไม่เคยได้เลยตั้งแต่บวชมา บางองค์ก็ไม่เคยเป็นสมาธิสักที แล้วมันจะเป็นกัมมัฏฐานได้อย่างไร? กัมมัฏฐานทำความไม่มั่นคงก็ไม่ใช่ของตน ตั้งใจพิจารณาของของตน อย่าไปหาดูที่อื่น ครั้นพิจารณาลงในนี้แล้ว มันเห็นตัวของตนแล้วมันต้องมีความรู้ พิจารณาสิ่งเดียวมันต้องเกิดความรู้ขึ้นในที่นั้น
พิจารณาสิ่งเดียวพิจารณาอะไร? จะพิจารณากาย หรือพิจารณาความเกิด ความดับ เราพิจารณาในสิ่งเดียวมันต้องเกิดความรู้ สิ่งทั้งปวงหมดถ้าเอามากมันก็พร่าไปหมดเลย จับอะไรไม่ได้ ถ้าของอันเดียวแล้วมันต้องรู้ พิจารณาของอันเดียวมันต้องรู้ พิจารณาตัวธาตุนั่นเอง ตัวอสุภะ ตัวของปฏิกูล ก็ของอันเดียวกันไม่ถูกที่ใดก็ต้องถูกที่หนึ่งแน่นอนทีเดียว เห็นชัดขึ้นมาเลย เนื่องจากสมาธิไม่มีมันจึงไม่เห็น การพิจารณาเลยเบื่อๆไป มันไม่มีหลักไม่มีฐานอยู่แล้ว จึงว่าพวกกัมมัฏฐานนี่ต้องเป็นกัมมัฏฐานจริงๆจังๆ มันต้องพิจารณาให้ลงอันเดียว มันจะสงบมันจะเป็นสมถะหรือเป็นสมาธิก็ตามเถิด พิจารณาค้นคว้า พิจารณาเหตุผลเรื่องราวนั่น ที่อันเดียวนี่แหละ ความเกิดความดับ ความสิ้นความเสื่อมของสังขารร่างกาย มันก็ปรากฎขึ้นมา เกิดความสลดสังเวชในตัวของตน ที่ได้ของไม่ดี ที่ได้ของไม่เที่ยง ที่ได้ก้อนทุกข์
บางคนบอกว่า ไม่เห็นทุกข์ อยู่กับทุกข์ ทุกวันทุกคืน ไม่เห็นอย่างไร? ทำไมจึงไม่พิจารณา ยืน เดิน นั่ง นอน เปลี่ยนอิริยาบถ ก็ล้วนแต่เปลี่ยนเพื่อระงับทุกข์ การอยู่ การกิน การนอน ก็ล้วนแล้วแต่เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อระงับทุกข์เท่านั้น การเจ็บการป่วยเล็กๆน้อยๆ เรียกว่า เวทนา มันมีอยู่ประจำ ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ เป็นหนาว ด้วยอาการต่างๆ ก็ล้วนแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้น ครั้นพิจารณาลงอันเดียวมันเห็น เห็นในตัวของเรานี่แหละ ไม่ต้องไปพิจารณาที่อื่น อย่างนั้นจึงเป็นกัมมัฏฐานแท้ นี่สักแต่ว่ากัมมัฏฐานเฉยๆ ตรงไหนเป็นกัมมัฏฐานก็ไม่ทราบ เมื่ออยากเป็นกัมมัฏฐานก็ให้พิจารณาลงอันเดียว อย่างที่พูดมานี้
ไม่เห็นทุกข์ อยู่กับทุกข์ ทุกวันทุกคืน ไม่เห็นอย่างไร? ทำไมจึงไม่พิจารณา ยืน เดิน นั่ง นอน เปลี่ยนอิริยาบถ ก็ล้วนแต่เปลี่ยนเพื่อระงับทุกข์
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 73. การพิจารณากัมมัฏฐาน]