58. จิตเป็นกลางเป็นของสำคัญมาก
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
๕๘. จิตเป็นกลางเป็นของสำคัญมาก
วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑
เข้าพรรษา ภิกษุทั้งหลายท่านก็อนุญาตให้อยู่จำพรรษาในที่ต่างๆ เพื่อประกอบความพากเพียรเพื่อศึกษาเล่าเรียน ให้ได้ความรู้ความเข้าใจ ที่จริงมันไม่ใช่แต่เข้าพรรษา ฤดูอื่นมันก็ใช้ได้เหมือนกัน ถ้าหากว่าตั้งอกตั้งใจพยายามเรียนจริงๆเห็นคุณประโยชน์ในการศึกษาเล่าเรียน เราเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาแล้วเราจึงค่อยบวช บวชแล้วเรายังไม่เข้าใจการปฏิบัติก็ไม่เข้าถึงศาสนา จึงว่าเป็นการลักลั่นอยู่ในตอนนี้แหละ ถ้าคิดถึงเจตนาที่เราบวชในเบื้องต้นหรือหากไม่เจตนาเลื่อมใสก็ตาม โดยส่วนมากบวชสักแต่ว่าบวช อาศัยข้าวสุกกินเป็นประมาณ ที่จะตั้งใจฝึกหัดปฏิบัติตนให้พ้นจากทุกข์นั่นมีน้อยคนที่สุด แต่ถึงอย่างไรเรามาบวชเข้ามาแล้ว ให้ตั้งใจอบรมศึกษา ตั้งใจเล่าเรียนก็ยังค่อยเป็นไป แล้วค่อยเห็นประโยชน์ในการบวชในพระพุทธศาสนา
ประโยชน์ในพุทธศาสนามากเหลือที่จะคณานับ ตั้งแต่วันหนึ่งๆไปจนตลอดชีวิตบวชอยู่ในศาสนาเรียกว่าอาศัยศาสนาเป็นเครื่องอยู่ ถ้าหากทำดีก็ได้ดีเป็นประโยชน์หมด บวชในศาสนาท่านให้พิจารณาปฏิสังขาโยฯ ทุกๆวัน การที่พิจารณาปฏิสังขาโยฯ เห็นสักแต่ว่าจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช ปัจจัยที่เราอาศัยนี้เป็นเครื่องอาศัยบำรุงเฉยๆก็เป็นประโยชน์ ครั้นหากอาศัยแล้วเกิดความดิ้นรนอยากได้ทะเยอทะยานดิ้นรนกระเสือกกระสนอันนั้นเป็นโทษ เป็นโทษมาก เป็นโทษเหลือที่จะพรรณนานับ เป็นคุณก็คุณมากเหลือที่จะคณานับ ทำสิ่งใดที่เราอาศัยหวังประโยชน์เพื่อยังความสุขเพื่อพ้นจากทุกข์แล้วเป็นประโยชน์ทั้งนั้น ทำสิ่งใดไม่คิดถึงคุณค่ามีแต่มัวเมาประมาท ได้ชื่อว่าเป็นโทษเป็นทุกข์ โทษและคุณมีอยู่พร้อมกันไปหมด
เหมือนกับตัวเรานี่แหละ เกิดมามีพร้อมหมดทุกสิ่งทุกอย่างที่ในตัวของเรา คือว่าอายตนะทั้ง ๖ มี ตา หู จมูกฯ เป็นต้น คอยรับสัมผัส เกิดความมัวเมาประมาทเกิดโทษไม่เป็นคุณประโยชน์แก่ตนเลย แต่ตนนั้นเข้าใจว่าเป็นคุณ จึงมัวเมาประมาทในอารมณ์ต่างๆ แต่ถ้าหากว่าพิจารณาเรื่องเหล่านั้นเห็นว่า อายตนะเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ทั้งปวง เมื่อพิจารณาอารมณ์ทั้งปวงหมดแล้ว เห็นโทษในอารมณ์นั้นๆก็เกิดกลายเป็นคุณ มันอยู่ในที่เดียวนี่แหละ ไม่อยู่ในที่อื่นหรอก คุณและโทษอยู่ในที่เดียวนั่นแหละ
เพราะมีโทษพระพุทธเจ้าจึงสอนธรรมะ มีปัญญาเป็นเครื่องปราบกิเลส ไม่ให้เกิดโทษ เห็นโทษของมันแล้วจึงเป็นคุณ ถ้าไม่เห็นโทษแล้วมีแต่มัวเมาประมาทเพลิดเพลินเฉยๆเป็นโทษตลอดเวลา ไม่ใช่อยู่ที่อื่นที่ไกล กิเลสทั้งหมดอยู่ในนี้หมด พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เข้ามาหาตัวของเรา เราไปเพ่งแต่โทษคนอื่น เช่น รูป มันไปเห็นแต่รูปภายนอก มันไม่ใช่เกิดจากภายนอก เราเห็นภายในออกไปภายนอกเห็นรูปสวยรูปงาม รูปน่าเพลิดเพลินเจริญใจ มันก็ออกไปจากใจของเรานี้ มันไม่ได้ออกจากภายนอก รูปก็เป็นรูปธรรมดานั่นแหละ
ของที่เป็นรูปสวย รูปงาม รูปน่าเพลิดเพลินเจริญใจ มันก็เป็นของธรรมดาอีก หากรูปนั้นเราไม่ไปยึดถือเป็นรูปภายใน มันก็เป็นประโยชน์ มันจะเป็นประโยชน์อะไรแก่ตน? รูปอันนั้นก็สักแต่ว่ารูป เกิดจากธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เกิดเติบโตขึ้นมาโดยลำดับเสียงก็เหมือนกัน กลิ่นก็เหมือนกัน รสโผฏฐัพพะก็เหมือนกัน ของภายนอกเข้ามาผสมภายใน จิตใจของเราเข้าไปปรุงไปแต่ง เกิดเพลิดเพลินมัวเมาประมาท จึงได้ชื่อว่าเป็นกิเลสขึ้นในใจ
ถ้าหากว่าเราชำระใจของเรา พิจารณาผู้มัวเมาประมาท เห็นโทษของความมัวเมา ประมาท แล้วก็สละปล่อยวางเสียได้ จิตมันอยู่กับใจ เรื่องอารมณ์เป็นของอยู่ภายนอกเป็นอารมณ์ของใจ ไม่ใช่ใจเป็นเป็นอารมณ์เป็นของภายนอก จิตใจเข้าไปยึดต่างหาก จิตใจเข้าไปยึดจึงค่อยเกิดอารมณ์ ครั้นใจไม่ยึดมันก็ต่างคนต่างอยู่มันก็หมดเรื่องกันไป
ที่ผมพูดถึงเรื่อง “ใจเป็นกลาง” เมื่อใจเป็นกลางแล้วมันเห็นความจริง ที่อารมณ์ภายนอกเกิดขึ้นมา เพราะว่าจิตเข้าไปยึดไปถือ เรียกหลายเรื่อง เรียกว่าจิต เจตสิก เรียกสังขาร วิญญาณ นามธรรมทั้งหลายล้วนแต่ออกไปจากใจทั้งนั้น เมื่อใจมันอยู่เป็นกลางๆ มันไม่มีอะไรทั้งหมด ถ้าหากใจไม่เป็นกลาง มันเอนไปทางซ้ายทางขวา เป็นอดีต อนาคต นั่นแหละมันจึงเกิดเรื่องใหญ่โตมโหฬาร เลยลืมตัวของเรา เมื่ออารมณ์ทั้งหลายเข้ามาครอบงำ ก็ไปตามอารมณ์นั้น ลืมของเก่าหมด
ลืมอย่างไร? มันยั้งตัวไม่อยู่ ใจที่เป็นกลางมันก็ยึดไม่อยู่ มันก็มัวเมาขึ้นมาถ้าหากจิตเป็นกลางอยู่ได้เมื่อไรแล้ว สิ่งทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นที่ใจออกจากใจ ก็จะเห็นว่าอันนั้นมันเป็นจิต เวทนา สัญญา สังขาร เกิดจากจิตต่างหาก จิตมันไปมุดมัดกับของพวกนั้น ถ้าเราละวางลงไปได้ มันก็เป็นกลางอย่างของเก่า จิตเป็นกลางเป็นของสำคัญมาก ทำความเพียรภาวนาจนจิตเป็นกลางได้ทุกครั้งทุกคราวเป็นดีที่สุด เพื่อจะให้รู้จักว่าอะไรมันเป็นอย่างไร กิเลสของที่จรมามันเป็นอย่างไร และตัวเป็นกลางมันเป็นอย่างไร รู้เท่ารู้เรื่องอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากว่าอะไรมันกระทบเข้า เข้าหาตัวกลางเลย
อยากเห็นตัวกลาง เราทดลองดูจิตที่เป็นกลางๆนั้น โดยกลั้นลมหายใจสักพักหนึ่งลองดู มันจะมีอะไร? มันไม่มีอะไรหรอก กลั้นลองดูก็ได้ มันไม่มีคิดมีนึกอะไร มีแต่ความรู้สึกตัวอยู่เฉยๆ อันนั้นแหละ “ตัวกลาง” แต่ว่าอันนั้นมันไม่ใช่ได้จากการพิจารณาถี่ถ้วนรอบคอบ มันได้ชั่วครั้งคราว ครั้นเมื่อพิจารณารอบคอบเข้าไปแล้ว พิจารณาเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ถึงเรื่องทั้งหลายจนลงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว มันจะเข้าเป็นกลางเอง พอมันเข้ากลางเองแล้วนั่นแหละ การพิจารณาธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าถึงตัวกลางมันถึงหมดเรื่อง พุทธศาสนานั่นเข้าถึงตัวกลางแล้วหมดเรื่อง ไม่มีอาการอะไรจะพูด หมดเท่านั้น นั่นจึงว่าเป็นของสิ้นสุดในพุทธศาสนา
จิตเป็นกลางเป็นของสำคัญมาก ทำความเพียรภาวนาจนจิตเป็นกลางได้ทุกครั้งทุกคราวเป็นดีที่สุด เพื่อจะให้รู้จักว่าอะไรมันเป็นอย่างไร กิเลสของที่จรมามันเป็นอย่างไร และตัวเป็นกลางมันเป็นอย่างไร รู้เท่ารู้เรื่องอยู่ตลอดเวลา
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 58. จิตเป็นกลางเป็นของสำคัญมาก]