07. ความสงบ
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
มันสงบ…มันก็สุขนะซี คนที่ไม่เคยละสิ่งที่เกี่ยวข้อง เลยไม่เห็นความสุข เห็นว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องน่ะเป็นความสุขความสบาย โน่นละไปโน่นอีก
๗. ความสงบ
วันที่ n/a พ.ศ. ๒๕๒๖
พากันตั้งใจฝึกหัดปฏิบัติตามความสามารถของตน ถ้าหากคนเราไม่ปฏิบัติธรรมะ ก็จะไม่รู้จักธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ความสุขอันใดจะเสมอเหมือนความสงบไม่มี คำนั้นเป็นคำจริง ถ้าหากปฏิบัติไม่ถึง พอจะเดาๆ คิดนึกเอาเฉยๆ ก็เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง อันความที่จะเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆจังๆ นี่เป็นของยากมาก ถึงหากเราเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง ถ้าหากปฏิบัติลงไปถึงตรงนั้นแล้วจะเชื่อขึ้นมา อ๋อ! ตรงนี้หรอกคำที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาไว้นั้นว่ามีความสุข ความสงบ อย่างนี้เป็นต้น
ความสงบนั้นมันมีจากไหน คนเราโดยส่วนมากมันยุ่งมันวุ่นวายสารพัดทุกสิ่งทุกอย่าง แส่ส่ายไปในที่ต่างๆ มันหาความสงบไม่ได้ เหตุนั้นคนที่เชื่อว่า ความสงบเป็นความสุข จึงค่อยมีน้อยนัก เพียงแต่เดาๆ คิดๆ นึกๆ ไปเฉยๆ ที่จะให้ถึงความสงบจริงๆจังๆ มันต้องละทุกสิ่งทุกประการ อารมณ์ทั้งปวงวุ่นวี่วุ่นวายอยู่ในใจของตนหายหมด ไม่มีเกี่ยวข้อง ถึงซึ่งความสงบจริงๆจังๆ ถ้ายังไปเกี่ยวข้องเรื่องต่างๆอยู่ มันยังไม่ถึงความสงบขึ้นมาได้ ความตรงนี้ล่ะ ที่ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ไม่เชื่ออย่างจริงๆจังๆ เราฝึกหัดนี้ฝึกหัดหาความสงบ ทุกอย่างทุกประการที่อบรมมาก็เข้าหาความสงบอย่างเดียว ความไม่สงบมันมีมาก อย่างเราตั้งแต่เกิดขึ้นมาก็หาความสงบไม่ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งๆ ๒๔ ชั่วโมงจะเอาความสงบจริงๆจังๆ สัก ๕ นาทีก็ยังดี ๑๐ นาทีก็ยังดี นั่นล่ะเห็นแจ้งความจริงของพระพุทธเจ้าที่ทรงเทศนาไว้จริงในใจของเราเลย
การฝึกหัดในทางพุทธศาสนา จะหัดวิธีใดก็ตาม ถึงกัมมัฏฐานจะหัดต่างครูต่างอาจารย์ก็ตาม ก็ลงสู่ความสงบอันเดียวกัน อย่างเขาหัดยุบหนอพองหนอก็ดี สัมมาอรหังก็ดี อานาปานสติ มรณสติอะไรก็ดี คือให้เข้าถึงความสงบนั่นเอง แต่แท้ที่จริงเมื่อถึงความสงบแล้ว ไม่รู้จักความสงบซ้ำอีก ยังหาว่าความสงบเป็นความโง่ไปโน่นซ้ำอีก ความโง่อย่างนี้เคยไหม? หัดให้ถึงความโง่อันนี้ ไม่ถึงความโง่ไม่ได้ความฉลาดหรอก ทุกสิ่งทุกอย่างให้มันเสียก่อนนั่นแหละ มันไม่ฉลาดก่อนหรอก ความสงบ จึงว่า เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ ที่เราปฏิบัตินั่นจะใช้อุบายแยบคายใดก็เอาเถอะ ที่ฟังเทศน์ฟังธรรมฟังอุบายจากครูบาอาจารย์ ทุกสิ่งทุกประการนั้นเรียกว่า อุบาย ครั้นเมื่อเข้าถึงความสงบแล้วนั้นเป็น แยบคาย
“แยบคาย” กับ “อุบาย” นั้นมันต่างกัน แยบคายนั้นใครสอนไม่ถูกรู้เฉพาะตนเองเป็นแยบคาย เข้าถึงความสงบแล้วนั่นแหละเป็นแยบคายของเรา แยบคายนั้นเมื่อถึงความสงบแล้ว เราจะเอามาสอนคนอื่นว่า ต้องทำอย่างนั้นๆ มันจึงเข้าถึงความสงบ อันนั้นเป็นอุบายอีก แยบคายแล้วมาเกิดเป็นอุบายของคนนั้น สอนคนอื่นต่อไป คนอื่นได้ฟังอีกก็เป็นอุบาย ครั้นเมื่อฝึกฝนอบรมเข้าถึงความสงบจริงๆ จังๆ เป็นแยบคายของแต่ละคน แยบคาย ก็คือ ตัวปัญญานั่นเอง จึงว่าพระพุทธศาสนานี้สอนให้เข้าถึงความสงบเสียก่อน จึงเรียกว่า สมถะ ถ้าไม่เกิดสมถะ ก็ไม่มี ปัญญา สมถะคือความสงบ ความสงบเกิดขึ้นมาในใจของตน มองเห็นหมดทุกสิ่งที่มันไม่สงบนั่น โทษของความไม่สงบเห็นที่นี่ เห็นแจ้งประจักษ์ในใจของตนเลย ชัดขึ้นมา นั่นล่ะคือตัว ปัญญา
ถ้าไม่เข้าถึงความสงบจิตใจยังฟั่นเฝืออยู่ จิตใจยังกระวนกระวายเกี่ยวข้องอยู่ถึงชัดถึงจริงก็ไม่เป็นของชัดด้วยตนเอง มันยังปะปนด้วยอารมณ์ต่างๆ ด้วยกิเลสทั้งปวง จึงต้องกระสับกระส่ายอยู่ร่ำไป เมื่อเข้าถึงความสงบนั่นเป็นต้น ชัดด้วยตนเองเลยที่เดียว อ๋อ!…อย่างนี้หรอกความความสงบ ที่ท่านว่า “ความสงบหาความสุขอันใดเสมอไม่ได้” มันอย่างนี้เอง ถ้าพูดโดยอนุมาน เมื่อไม่มีสิ่งใดๆ ทั้งปวงหมดมาเกี่ยวข้องกับจิตแล้ว มันจะมีอะไรเหลือในที่นั้น? มันก็ไม่มีอะไรน่ะสิ อันที่มีสิ่งต่างๆ เกี่ยวข้องนั้น จิตมีสิ่งต่างๆ นั้นเรียกว่ามันไม่สงบ ไม่เห็นความสงบ
สงบจริงๆนั้น ไม่มีอะไรเลย แต่รู้สึกตนว่า ไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องในที่นั้น นั่นล่ะความสงบแท้ แต่ว่าอันนี้พูดให้ฟังเพื่อเป็นอุบาย
ถ้าคนใดเข้าถึงความสงบแล้ว เห็นด้วยตนเองเลย คราวนี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนไม่ว่าจะพูดจะคุยอะไรต่างๆ มองเห็นความสงบอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ในขณะนั้นจะไม่ได้ความสงบอย่างเต็มที่ มันก็คิดถึงความสงบ ระลึกถึงความสงบ เห็นความสงบอยู่ตลอดเวลา หากได้โอกาสเวลาว่างๆ เราทำความเพียร เดินจงกรม นั่งภาวนาก็ดี มันสงบ ยังเหลือแต่จิตอันเดียว ไม่มีสิ่งเกี่ยวข้อง มันก็สุขน่ะซีตรงนั้น มันไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง มันก็สุขนะซี คนที่ไม่เคยละสิ่งที่เกี่ยวข้อง เลยไม่เห็นความสุข เห็นว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องน่ะเป็นความสุขความสบาย โน่นละไปโน่นอีก มันยากที่รู้จักธรรมเห็นธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้า
เหตุนั้น จึงว่าตั้งใจปฏิบัติไปเถิดไม่เป็นไรหรอก เราปฏิบัตินี่ถูกต้องแล้ว ปฏิบัติมุ่งหาความสงบนั้นถูกแล้ว ความไม่สงบมันมากมาย มันเป็นเองหรอก ความไม่สงบน่ะ มันเป็นตามเรื่องตามราวของมัน ของไม่สงบนั่นมันหากมีในนั้น ฉะนั้นสิ่งที่มันสงบน่ะมันหายาก สิ่งที่ไม่สงบน่ะมันหาง่าย ไปที่ไหนๆ ก็พบหรอกความไม่สงบ
เหตุนั้น ในชีวิตอันนี้ ขอให้ได้ความสงบสักพักหนึ่งเถิดในวันหนึ่งๆ ขอให้ได้ความสงบสักพักหนึ่ง ก็นับว่าดีอักโขแล้ว เอาละ
สงบจริงๆนั้น ไม่มีอะไรเลย แต่รู้สึกตนว่า ไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องในที่นั้น นั่นล่ะความสงบแท้ แต่ว่าอันนี้พูดให้ฟังเพื่อเป็นอุบาย
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 07. ความสงบ]